สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency)

0
1198
Cryptocurrency

       สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) เป็นสกุลเงินใหม่ที่สร้างขึ้นจากกลไกทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีการกำหนดชุดรหัสไว้ในจำนวนจำกัด ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อถอดรหัส จึงจะสามารถนำเงินออกจากกลไก โดยมีสิ่งที่เรียกว่า Wallet เป็นเหมือนกระเป๋าเงินออนไลน์ไว้เก็บเงินดิจิตอลสกุลต่างๆของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล

สกุลเงินดิจิตอล  (Cryptocurrency) สร้างขึ้นเพื่อลดการรวมศูนย์ของระบบการชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน และกระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังผู้ใช้ในเครือข่ายสกุลเงินนั้นๆ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นระบบโครงข่ายที่ใช้เก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ มีลักษณะคล้ายใยแมงมุมที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงินทุกๆ Transaction เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของเงิน โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง อีกทั้งยังสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ด้วยชุดตัวเลขที่ถูกเข้ารหัสไว้ โดย Blockchain ในระบบสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) นั้น มี 2 ระบบหลักๆ คือ

  • ระบบที่มีศูนย์กลางดูแลข้อมูล (Centralized) มีเซิร์ฟเวอร์กลางที่เก็บข้อมูลทั้งหมด ทำให้มีเพียงผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
  • ระบบที่ไม่มีศูนย์กลางดูแลข้อมูล (Decentralized) ใช้การกระจายข้อมูลออกไปสู่ทุกหน่วยย่อยในระบบ เพื่อให้ดูแลและตรวจสอบข้อมูลระหว่างกัน

จากโครงสร้างของสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) ส่งผลให้เกิดความรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน ต้นทุนต่ำ และมีความปลอดภัย ถึงแม้ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะยังไม่รับรองสกุลเงินดิจิตอลนี้ อีกทั้งมูลค่าของแต่ละสกุลเงินดิจิตอลก็มีความผันผวนมาก แต่ก็สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฏหมายได้ ส่งผลให้สกุลเงินดิจิตอลยังมีคุณสมบัติของเงินไม่ครบ แต่หากเป็น สกุลเงินดิจิตอลธนาคารกลางออกใช้ (Central Bank Digital Currency: CBDC) จะมีคุณสมบัติของเงินที่ครบถ้วนเพราะมีมูลค่าแน่นอนใช้แทนสกุลเงินท้องถิ่นได้ตามกฎหมาย

วัตถุประสงค์ของเงินสกุลเงินดิจิตอล ที่ออกโดยโดยธนาคารกลาง

1. ลดโอกาสการผูกขาดและความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงินจากภาคเอกชน ซึ่งมักเกิดกับประเทศที่คนไม่ค่อยใช้เงินสดแล้ว

2. ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการชำระเงิน

3. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน

หมายเหตุ :: ธนาคารกลางสามารถกำหนดรูปแบบของสกุลเงินดิจิตอล CBDC ได้เอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงขาลง เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจนติดลบนั้นไม่สามารถทำได้ในสังคมที่ยังใช้เงินสด เพราะคนจะเปลี่ยนไปถือเงินสดแทนการเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากแล้วถูกเก็บดอกเบี้ย

ความนิยมในการใช้สกุลเงินดิจิตอล

       ความนิยมในการใช้สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) จะเห็นได้ชัดในประเทศที่ไม่มีความเชื่อมั่นในเงินสกุลท้องถิ่น หรือไม่มั่นใจในเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศ หรือทั้ง 2 ปัจจัยควบคู่กัน เช่น ประเทศเวเนซุเอลาที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เผชิญกับเงินเฟ้อสูงมากเกือบ 1,000,000% ในปี 2561 ทำให้เงิน โบลีเวีย (Bolevar) ซึ่งเป็นสกุลเงินท้องถิ่นแทบไม่มีค่า คนจึงหนีภาวะเงินเฟ้อในสกุลเงินโบลีเวียและหันไปถือสกุลเงินดิจิตอลแทน แม้รัฐบาลจะออกสกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติชื่อ Petro coin ที่มีมูลค่าบ่อน้ำมันของรัฐหนุนหลังด้วย แต่ก็ไม่สามารถดึงให้ประชากรในท้องถิ่นกลับมาเชื่อถือในเงินของรัฐได้

การใช้สกุลเงินดิจิตอลในประเทศไทย

       ปัจจุบันการในประเทศไทยมีการใช้สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) เพื่อธุรกรรมทางการเงินเพียงในวงจำกัด แต่ก็เริ่มมีคนไทยที่ผลิตสกุลเงินดิจอตอลได้แล้ว เช่น Zcoin ในส่วนของนักลงทุนไทยเริ่มรู้จักคริปโท (Crypto) ในฐานะสินทรัพย์ดิจิตอล ภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการซื้อขายสกุลเงินดิจิตอลในไทย โดยมีการเตือนผู้สนใจลงทุนในสกุลเงินดิจิตอลว่ามีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องมีความรู้และสามารถรับความเสี่ยงที่อาจจะสูญเสียเงินต้นที่นำมาลงทุนได้

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ได้เปิดเผยรายละเอียดกฏหมายสำหรับสกิลเงินดิจิตอลและการระดมทุน ICO รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตและค่าธรรมเนียม โดยรายชื่อสกุลเงินดิจิตอลที่ได้รับอนุมัติ ประกอบด้วยเหรียญ Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar ซึ่งพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของ Consensus และ สภาพคล่องของสกุลดิจิตอลนั้นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้เงินสกุลเงินดิจิตอลในชีวิตจริง หรือการลงทุนในสกุลเงินดิจิตอลในไทย โดยแต่ละสกุลเงินดิจิตอลที่ได้รับการอนุมัติมีรายละเอียดคร่าวๆดังนี้

Bitcoin

        Bitcoin (BTC) ถือเป็นเงินดิจิตอลสกุลแรกที่มีการยอมรับและเริ่มใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย สร้างขึ้นในปี 2009 โดยบุคคลลึกลับที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto แม้ชื่อจะเป็นชาวญี่ปุ่น แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวตะวันตกมากกว่า โดย Bitcoin อยู่ในเครือข่าย Blockchain แบบ Centralized ในการจัดเก็บข้อมูล ทําให้ไม่มีใครสามารถควบคุมหรือแก้ไขข้อมูลที่บันทึกอยู่บน Blockchain ได้

Bitcoin Cash

       Bitcoin Cash (BCH) คือสกุลเงินดิจิตอลที่กำเนิดจากการแยกออกของ Bitcoin (การทำ Hard Fork) ส่งผลให้เครือข่าย Blockchain ของ Bitcoin ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของ BTC และ BCH เหตุที่มีการแยก Bitcoin Cash ออกมา เนื่องจาก Bitcoin (BTC) รองรับได้เพียง 100 ธุรกรรมต่อบล็อก หรือ 1MB ซึ่งถือว่าช้าและมีปริมาณธุรกรรมที่รอการตรวจสอบเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการโต้แย้งขึ้นระหว่างนักพัฒนา 2 กลุ่ม สุดท้ายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับปัญหาการ Scaling ของ BTC จึงแยกตัวออกมาเป็นอีกเหรียญ BCH ในที่สุด

Ethereum

       Ethereum (ETH) สร้างขึ้นในปี 2013 โดย Vitalik Buterin ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเงินสกุล Ethereum จนทำให้เขาได้รับการยอมรับในวงการสกุลเงินดิจิตอล จากความสามารถอันโดดเด่นของ Ethereum ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายธุรกรรม โดยเฉพาะการเป็นฐานในการระดมทุนทำ ICO (Initial Public Offering) ของเงินดิจิทัลสกุลใหม่ๆทั่วโลก

Ethereum Classic

       Ethereum Classic (ETC) เป็นอีกหนึ่งสกุลเงินดิจิตอลที่แยกตัวออกมาจาก Ethereum เนื่องจากทีมพัฒนาบางกลุ่ม ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการแก้ปัญหาของ Ethereum ที่ถูกแฮกระบบ จึงรวมกลุ่มกันออกมาพัฒนาเป็นเงินดิจิตอลสกุล Ethereum Classic ขึ้นในปี 2016

Litecoin

       Litecoin (LTC) เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีจุดเด่นในเรื่องความเร็วในการประมวลผลของธุรกรรมต่างๆ ว่ากันว่าเร็วกว่า Bitcoin ถึง 4 เท่า และค่าธรรมเนียมยังถูกกว่าอีกด้วย ซึ่ง Litecoin ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2010 โดย Charlie Lee ซึ่งเป็นอดีตอดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ Google

Ripple

       Ripple (XRP) เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่แตกต่างจากสกุลเงินอื่นๆ เพราะออกแบบภายใต้ระบบ Private Blockchain โดยมีบริษัท Ripple เป็นผู้ดูแลปริมาณเงินในระบบทั้งหมด ทำให้นักลงทุนไม่สามารถขุดได้ เนื่องจากทางผู้พัฒนาต้องการให้ Ripple มีความเสถียรและเป็นสกุลเงินดิจิตอลหลักสำหรับใช้แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

Stellar

       Stellar (XLM) เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ถูกพัฒนาต่อยอดจาก Ripple ที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเงินดิจิทัลสำหรับถ่ายโอนแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินหลัก แต่จุดที่ Stellar แตกต่างออกไป คือ การออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานของคนทั่วไป ซึ่งต้องการโอนเงินจำนวนไม่มาก ตรงกันข้ามกับ Ripple ที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่มองค์กรหรือสถาบันการเงินเป็นหลัก

ICO คืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับสกุลเงินดิจิตอล

       ICO (Initial Coin Offering) คือ การระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่สตาร์ทอัพนิยมใช้เพื่อเปิดตัวโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยจะมีการออกเหรียญดิจิทัลมาเสนอขายแก่นักลงทุนที่ต้องการลงทุน มีลักษณะคล้ายกับ Initial Public Offering (IPO) แต่จะได้รับเป็นเหรียญดิจิทัลแทนการได้รับเป็นหุ้น ซึ่งเหรียญดิจิทัลที่ได้รับสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินดิจิตอลสกุลอื่นได้ ซึ่งโปรเจคที่ประสบความสำเร็จจาก ICO มากที่สุดคือ Ethereum

อย่างไรตาม ยังมีโครงการ ICO อีกมากมายที่ล้มเหลว ซึ่งผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับ ICO จำนวนมาก เนื่องจากการทำ ICO สามารถทำได้ง่ายกว่า IPO จึงมีบริษัทมากมายเข้ามาระดมทุนในช่องทางนี้ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนใน ICO ใดก็ตาม ควรศึกษาอย่างละเอียดก่อน เพราะในขณะนี้ ICO ยังไม่มีกฎหมายที่แน่นอนมารองรับ ต่างจาก IPO ที่มีการรับรองจากหน่วยงานของรัฐบาล

บทส่งท้าย

       สำหรับอนาคตของสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) ยังคงไม่แน่นอนซึ่งต้องติดตามกันต่อไป ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นที่นิยมและมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย จนธนาคารกลางส่วนใหญ่ให้การรับรองอย่างเป็นทางการได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงสกุลเงินหนึ่งที่ยังไม่สมบูรณ์และไม่สามารถพัฒนาจนสามารถใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ในที่สุด

ที่จริงแล้วสกุลเงินดิจิตอลที่กล่าวมาในบทความนี้ ได้เริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงมี อินเทอร์เน็ต 56k (Dial-up internet) โดยเริ่มเปิดตัวสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) สกุลแรกอย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) ในปี 2009 ซึ่งในระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มีสกุลเงินดิจิตอลใหม่ๆเกิดขึ้นทั่วโลกเกือบ 2,700 สกุลในปี 2019 และยังคงมีนักลงทุนรวมถึงนักพัฒนาระบบหันมาสนใจสกุลเงินดิจิตอล หรือที่หลายๆคนเรียกติดปากว่า Cryptocurrency มากขึ้นเรื่อยๆ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here