Dollar Cost Averaging (DCA) เป็นการลงทุนระยะยาวในลักษณะการถัวความเสี่ยง โดยมีหลักคือ จะเข้าซื้อหรือลงทุนเป็นงวดๆ งวดละเท่าๆกัน เช่น ในวันที่เงินเดือนออกจะทำการลงทุนจำนวน x,xxx บาทเท่าๆกัน (โดยไม่สนใจราคาว่าจะถูกหรือแพง) ส่งผลให้การลงทุนในระยะ 1 ปี มีการเข้าซื้อจำนวน 12 งวด และแต่ละงวดจะต้นทุนหรือราคาไม่เท่ากัน หรือได้ต้นทุนที่คล้ายกับว่าเป็นต้นทุนเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั่นเอง

ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA

  • เหมาะสำหรับผู้ลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจทางด้านการลงทุนมากนัก หรือไม่มีเวลาพอที่จะติดตามข่าวสารการลงทุนอย่างใกล้ชิด
  • เป็นการสร้างวินัยทางการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และวางแผนทางการเงิน โดยเฉพาะการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณ เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้มักมีการจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง
  • ได้ราคาเฉลี่ย แม้ราคาที่ได้อาจจะไม่ใช่ราคาที่ถูกหรือดีที่สุด แต่อย่างน้อยต้นทุนที่เราได้ในแต่ละปีก็จะเป็นต้นทุนเฉลี่ยในแต่ละเดือน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะซื้อหรือลงทุนในราคาที่สูงจนเกินไป

ข้อควรระวังในการลงทุนแบบ DCA

  • ก่อนจะเริ่มลงทุนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบปกติ หรือแบบ DCA ควรจะทราบก่อนว่า ในขณะที่ลงทุนเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงใด ของ วัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) เนื่องจากในแต่ละช่วงของเศรษฐกิจ มีความน่าลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ต่างกัน
  • ควรมีการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากหลักของการ DCA นั้นคือการถัวความเสี่ยงทางการลงทุน จึงควรลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทใน Portfolio ของการลงทุน ตามหลัก Asset Allocation เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมในการลงทุนแบบ DCA

  • เหตุที่การลงทุนแบบ DCA ไม่เหมาะในการลงทุนในระยะสั้น เนื่องจาก การลงทุนระยะสั้นเป็นการหาจังหวะซื้อถูกและขายแพง จึงจำเป็นต้องติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด

     ในปัจจุบันการลงทุนในลักษณะ DCA มีทางเลือกให้กับผู้ลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมี โบรคเกอร์ รวมทั้งกองทุนต่างๆ คอยอำนวยความสะดวกในลักษณะการลงทุนดังกล่าว และมักมีแผนการลงทุนในลักษณะ DCA ไว้เพื่อรองรับความต้องการของผู้ลงทุน จึงไม่จำเป็นต้องโทรสั่งซื้อหุ้นหรือกองทุนในวันที่ต้องการลงทุน หรือต้องเดินไปธนาคารเพื่อซื้อกองทุนในทุกๆเดือน โดยในส่วนนี้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้ต้องการลงทุนในลักษณะ DCA ต้องศึกษาเพิ่มเติม

     นอกจากการลงทุนในลักษณะ DCA ยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้ทำการตัดเงินเพื่อซื้อหรือลงทุนวันที่เท่าไหร่ของเดือน เป็นจำนวนเท่าใด ลงหุ้นกลุ่มใดหรือกองทุนอะไรบ้าง และต้องไม่ลืมดูในส่วนของเงื่อนไขต่างๆ เช่น ต้องลงทุนนานเท่าไหร่ มีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายเท่าใด และมีผลการดำเนินงานย้อนหลังเป็นอย่างไรบ้าง