Elliott Wave คิดค้นโดย ราฟ เนลสัน อีเลียต (Ralph Nelson Elliott) จึงให้เกียรติกับผู้ที่คิดค้นและตั้งชื่อว่า Elliott Wave ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมของราคาที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่น ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่คล้ายๆเดิมของนักลงทุน จนสามารถนำมาคำนวณเป็นสูตรของ Elliott Wave ได้

โดยปกติแล้ว คลื่น Elliott Wave จะประกอบไปด้วย คลื่นขาขึ้นจำนวน 5 ลูก (1-2-3-4-5) และคลื่นขาลงอีก 3 ลูก (A-B-C)

หลักการของ Elliot Wave เกิดจาก 3 แนวคิดมารวมกัน คือ

1. Action = Reaction คือ เมื่อมีขึ้น ก็ย่อมมีลง เมื่อหุ้นขึ้นจนเต็มที่แล้ว ก็จะถึงจุดที่มันต้องลง และในทางกลับกัน ถ้าหุ้นมันลงจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว มันก็พร้อมจะเป็นขาขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในลักษณะคลื่นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
2. คลื่น ประกอบด้วย คลื่นขาขึ้น (Impulse Wave) 5 ลูก ประกอบด้วย 1-2-3-4-5 และ คลื่นขาลง (Corrective Wave) 3 ลูก ประกอบด้วย a-b-c
3. วงจรหุ้นหรือวงจรตลาด 1 รอบ จะประกอบด้วย Impulse Wave และ Corrective Wave ตามนี้ไปตลอด

Impulse Wave

คลื่น 1 เป็นคลื่นแรกหลังจากตลาดปรับฐาน การปรับตัวขึ้นจะยังไม่แรงมาก เพราะนักลงทุนไม่แน่ใจว่าข่าวร้ายหมดไปแล้ว คลื่นนี้ปริมาณการซื้อขายจะเบาบาง แต่แรงขายก็มีไม่เยอะ

คลื่น 2 เป็นการปรับฐานหลักจากนักลงทุนที่ลงทุนไปตั้งแต่คลื่น 1 ได้กำไรมาพอสมควร สาเหตุของการขายทำกำไรระยะสั้นนี้ เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้ยังไม่มั่นใจว่าตลาดจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปต่อหรือเปล่า และอาจมีนักลงทุนที่ขาดทุนตั้งแต่รอบขาลงรอบที่แล้วด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นแค่การรีบาวน์ระยะสั้น ๆ เท่านั้น

คลื่น 3 ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับคลื่น 1 และ 2 ตลาดมีความมั่นในมากขึ้น โดยปกติแล้ว คลื่น 3 นี้ จะเป็นคลื่นที่ได้กำไรมากที่สุด เพราะเป็นคลื่นที่กินระยะเวลานานกว่าคลื่น 1 และ 5 รวมทั้งส่วนใหญ่เป็นคลื่นที่มีความชันมากที่สุดอีกด้วย

คลื่น 4 เมื่อพบจุดสูงสุดของคลื่น 3 ก็จะมีแรงขายออกมา ซึ่งบริเวณนี้ ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นหรือตลาด ได้มาถึงราคาที่เหมาะสมแล้ว หรืออาจมีข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญ กระทบต่อราคาหุ้นหรือปัจจัยตลาดอย่างรุนแรง แต่ด้วยภาวะตลาดที่เป็นขาขึ้น นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นสูง จึงทำให้ยังมีแรงซื้อกลับจากนักลงทุนที่ยังเชื่อว่าตลาดไปต่อได้ หรือเกิดจากนักลงทุนที่ตกรถในคลื่น 3

คลื่น 5 วิ่งเพราะอารมณ์ตลาด ในคลื่นนี้ ข่าวดีจะมีเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ กลบข่าวร้ายที่มีผลต่อตลาดหมด

Corrective Wave

คลื่น a นักลงทุนจะขายออกมาในปริมาณมาก บ่อยครั้งเกิดจากข่าวร้ายที่กระทบกับปัจจัยพื้นฐานแบบฉับพลัน

คลื่น b นักเก็งกำไรระยะสั้น และนักลงทุนบางกลุ่ม ยังเชื่อว่าปัจจัยนั้นไม่น่ากระทบกับราคาหุ้นมาก จึงทำการเข้าซื้ออีกครั้ง โดยการรีบาวน์ขึ้นจะไม่สูงกว่าจุดสูงสุดของคลื่น 5

คลื่น c เกิดจากการขายอย่างตื่นตระหนก (Panic Sell) นักลงทุนหมดความหวังกับหุ้นตัวนี้หรือภาวะตลาดในช่วงนั้น โดยในปลายคลื่น c แรงขายจะลดลงเหลือเบาบาง สะท้อนว่า คนที่อยากขายได้ขายออกมาจนใกล้จะหมดแล้ว

กฎและแนวทางการนับคลื่น

Rule 1 : Wave 2 can never retrace more than 100% of wave 1.
กฏข้อที่ 1 : Wave 2 จะต้องไม่ต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของ Wave 1

Wave 2 มักจะประกอบด้วยคลื่นย่อย a-b-c ถ้าเรานับคลื่นแล้วเห็นว่า Wave 2 ลงมาแรงกว่าจุดเริ่มต้นของ Wave 1 ให้รู้ทันทีว่า “ผิด” โดยสามารถนำไปใช้เป็นกลยุทธ์ในการเข้าลงทุนในจังหวะที่ดีจุดหนึ่ง ซึ่งก็คือ การเข้าซื้อในช่วงเริ่มต้นของ Wave 3
ขั้นที่ 1 ต้องดูว่า ขาลงที่เราเห็น ลงมาต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของคลื่น 1 หรือเปล่า หากไม่ต่ำกว่า และมีการดีดตัวขึ้นไป ให้เตรียมเงินไว้ทันที

ขั้นที่ 2 หากราคาหุ้นหรือดัชนี สามารถทะลุผ่านจุดสูงสุดของคลื่น 1 ได้  นักลงทุนต้อง “ซื้อตาม” (Follow Buy) เพราะมีโอกาสสูงมากที่คลื่นลูกนี้จะเป็นคลื่น 3 ซึ่งเมื่อรวมกับกฏที่ว่า “Wave 3 ต้องไม่สั้นที่สุด”ก็หมายความว่า กำไรจากการเข้าซื้อลงทุนตรงจุดนี้มีสูงมาก

กรณีที่ไม่เป็นอย่างที่เราหวังไว้ ยกตัวอย่างเช่น เด้งแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านจุดสุงสุดของคลื่น 1 ไปได้ หรือผ่านไปได้ แต่ดันโดนเทขายลงมาท ำให้ราคาต่ำกว่าจุดสูงสุดของคลื่น 1 อีกครั้ง สิ่งที่ควรทำ คือ “ตัดขาดทุน (Cut Loss)” ออกไปก่อน เพราะรูปแบบโครงสร้างราคาไม่ได้เป็นไปตามที่เรามองไว้

เราสามารถนำหลักการ Elliott Wave ข้อนี้ มาใช้กำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้ คือ “Buy The Breakout” หรือ ซื้อเมื่อทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) ซึ่งนักเทคนิคหลายคนก็นำไปปรับใช้ในการเทรด ถึงแม้นับคลื่นไม่เป็น แต่พอเห็นรูปแบบนี้ ก็ซื้อตาม และมีโอกาสทำกำไรสูงด้วย

Rule 2 : Wave 4 may never end in the price territory of wave 1.
กฏข้อที่ 2 : Wave 4 จะต้องไม่ต่ำกว่า Wave 1

คลื่น 4 เป็นคลื่นปรับฐาน จะลงลึกเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าจุดสุงสุดของคลื่น 1 หากต่ำกว่า แสดงว่าเรานับ “ผิด” หมด ต้องเริ่มนับใหม่ ในด้านการวางแผนการเทรด สมมติว่าอยู่ในคลื่นลูกที่ 3 ด้วยกฏข้อนี้ เขาจะใช้จุดสูงสุดของคลื่นลูกที่ 1 เป็นแนวรับสำคัญ ทันทีที่หลุดแนวรับดังกล่าวลงมา แปลว่า ราคาหุ้นหรือดัชนีนั้น ๆ เข้าสู่ขาลง จุดนี้จึงถือเป็นจุด Stop Loss ที่สำคัญอีก 1 จุด

ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ ความแรงของคลื่น 4 ส่วนใหญ่จะแรงกว่าคลื่น 2 ซึ่งเป็นคลื่นขาลง (Corrective Wave) เหมือนกัน ความยากก็คือ อาจลงแบบทีเดียวจบ แล้วตามด้วยการเข้าสู่คลื่น 5 ทันทีก็ได้ ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าลงทุนในช่วงนี้ จะต้องทนทั้งความผันผวนที่สูงขึ้น และ Upside จากการลงทุนน้อยกว่านักลงทุนที่ลงทุนในช่วงคลื่น 3 ถ้าใครจะลงทุนช่วงนี้ ควรลงทุนระยะสั้น และกำหนดจุด Stop Loss รวมทั้งต้องทำตามวินัยอย่างเคร่งครัด

Rule 3 : Wave 3 may never be the shortest impulse wave of waves 1, 3 and 5.
กฏข้อที่ 3 : Wave 3 ต้องไม่สั้นที่สุด

คำว่า ไม่สั้นที่สุด หมายถึง คลื่น 3 อาจจะเป็นคลื่นที่ยาวที่สุดในคลื่นขาขึ้น (Impulse Wave) แต่ถ้าไม่ยาวที่สุด ก็ต้องไม่สั้นที่สุด เช่น คลื่น 1 อาจยาวกว่าคลื่น 3 ก็ได้ แต่คลื่น 3 ต้องยาวกว่าคลื่น 5 ถ้าปรากฏว่า คลื่น 3 สั้นกว่าคลื่น 5 ด้วย จะทำให้่ึคลื่น 3 สั้นที่สุด ถือว่า “ผิด”

บทส่งท้าย

     Elliot Wave นั้นแม้จะเป็นการนับคลื่นที่คนกล่าวถึงกันมาก แต่มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเยอะ และมีรูปแบบ (Pattern) ที่ค่อยข้างดิ้นได้สูงมาก และหลายครั้งก็ไปเข้ารูปแบบอื่น เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขต่างๆด้านบน ดังนั้นการจะใช้ Elliot Wave ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีทักษะในการดูกราฟและสามารถจำรูปแบบกราฟอื่นๆได้เยอะพอสมควรด้วย