รัฐบาลจะใช้นโยบายทางการเงิน (Monetary policy) และนโยบายการคลัง (Fiscal policy) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพคำว่ามีเสถียรภาพนี้หมายถึงการเจริญเติบโตที่ดีและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ต้องมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงด้วย มิฉะนั้นแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆตามมา

     เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตได้ดีนั้น ต้องมีรากฐานจากการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเต็มที่ หรือใกล้เคียงคำว่าเต็มที่มากที่สุด ซึ่งปัจจัยการผลิตในที่นี้จะหมายถึงแรงงานในประเทศรวมถึงเครื่องจักรด้วย เนื่องจากเมื่อมีความต้องการแรงงานมากขึ้น ค่าจ้างจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตาม เพื่อดึงดูดให้แรงงานมีความต้องการขายแรงงานมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรในประเทศมีรายได้ที่สูงขึ้นรวมถึงมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และในจุดนี้เองที่ส่งผลโดยตรงกับความต้องการบริโภคสินค้าและบริการมากที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

     ไม่ใช่เพียงแต่ตัวเลขต่างๆออกมาดูดี แล้วเศรษฐกิจดีขึ้นจริงๆ แต่เศรษฐกิจที่ดีจะต้องเกิดจากความต้องการบริโภค (Demand) ของประชากรในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วย เพราะตัวเลขที่ดีขึ้นนั้นอาจเกิดจากเงินเฟ้อเป็นหลัก ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นและส่งผลต่อตัวเลขต่างๆให้ดูดีขึ้นแบบไม่มั่นคง

     เราจึงควรทำความเข้าใจกับนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศของเรา หรือของประเทศที่เราสนใจ เพื่อปรับพอร์ทการลงทุนหรือการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ของรัฐบาลประเทศนั้นๆ

นโยบายการเงิน (Monetary policy)

     นโยบายการเงิน ถูกกำหนดโดย “ธนาคารกลาง” หรือที่เราอาจจะรู้จักในนาม “แบงค์ชาติ” เป็นนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องปริมาณการเงินในระบบเศรษฐกิจ (Money supply) หากมีปริมาณเงินในระบบมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่หากมีน้อยเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดตามมาอีก จึงต้องทำการควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้มีความเหมาะสม โดยภาวะเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจจะเจริญเติบโตได้ดีนั้น นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าควรมีระดับเงินเฟ้ออ่อนๆ เนื่องจากเมื่อมีการจ้างงานมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว ย่อมส่งผลให้ต้องการแรงงานในระบบมากขึ้น ค่าแรงก็จะปรับตัวขึ้นตาม จึงส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นตามค่าครองชีพ โดยที่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นนี้เองคือระดับเงินเฟ้ออ่อนๆตามหลักของนักเศรษฐศาสตร์

นโยบายการเงินแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. นโยบายการเงินแบบขยายตัว (Expansionary monetary policy) จะใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มถดถอย เพื่อให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยจะมีเครื่องที่ใช้ในการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวหลักๆ ดังนี้
  • การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินสดสำรองที่ต้องดำรง (Reserve ratio) ของธนาคารพาณิชย์ หมายถึง เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องฝากไว้กับธนาคารกลาง (จากยอดเงินฝาก) หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว จะต้องลดเงินสดสำรองที่ต้องฝากไว้กับธนาคารกลางลง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินไปปล่อยกู้ให้กับภาคประชาชนและภาคธุรกิจมากขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการขยายธุรกิจหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก็จะทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว
  • การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือพันธบัตรของธนาคารกลางกับภาคเอกชน (Open market operation)การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัว ธนาคารกลางจะซื้อหลักทรัพย์จากภาคเอกชน เพื่อปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการบริโภค การลงทุนและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป
  • การเปลี่ยนแปลงอัตราซื้อลด (Discount rate) คือ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารกลางคิดจากธนาคารพาณิชย์ การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัวจะทำโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งจะมีผลทำให้เงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
  • การขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม (Moral suasion) เช่น การขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่มีความสำคัญ เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เป็นต้น

2. นโยบายการเงินแบบหดตัว (Contractionary monetary policy) จะใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตเร็วเกินไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงแต่มีเสถียรภาพ และใช้การดำเนินนโยบายการสวนทางกับการดำเนินนโยบายแบบขยายตัว

นโยบายการคลัง (Fiscal policy)

     นโยบายการคลัง ถูกกำหนดโดย “กระทรวงการคลัง” หมายถึง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของรัฐบาล (Government spending) และการจัดหารายได้ของรัฐบาล (Tax) โดยในการจัดหารายได้ของรัฐบาลจะมาจากการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ จากทั้งผู้ผลิต เช่น ภาษีนิติบุคคล ที่เก็บจากบริษัทห้างร้านต่างๆ หรือการจัดเก็บจากผู้บริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เราเรียกกันว่า VAT หรือจัดเก็บจากผู้มีรายได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ ยังมีภาษีอีกหลายประเภท เช่น ภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บกับสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ บุหรี่ สุรา ไพ่ หรือภาษีนำเข้าเก็บจากสินค้านำเข้า เช่น ภาษีรถยนต์ น้ำหอม นาฬิกา และเครื่องสำอางค์ เป็นต้น

     ภาษีที่จัดเก็บได้ รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายตามงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งจะใช้จ่ายผ่านส่วนงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน การจัดซื้ออาวุธ งบกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เป็นต้น โดยรัฐมักจะนำเงินภาษีไปใช้ในการสร้างปัจจัยพื้นฐานให้กับระบบเศรษฐกิจ หรือใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่เอกชนไม่ผลิต หรือที่เรียกว่า สินค้าสาธารณะ (Public goods) อาทิ การทหาร การสร้างถนนหนทาง สวนสาธารณะ สะพานลอย

นโยบายการคลังแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. นโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary fiscal policy) คือ การที่รัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ หรือที่เรียกว่า งบประมาณขาดดุล ซึ่งอาจเลือกใช้ในยามที่เกิดปัญหาเงินฝืด หรือเศรษฐกิจถดถอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้นกว่าภาษีที่จัดเก็บ ก็เป็นเสมือนการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ก็ทำให้คนมีเงินเหลือเพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นต้น
  2. นโยบายการคลังแบบหดตัว  (Contractionary fiscal policy) คือ การที่รัฐบาลใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ หรือที่เรียกว่า งบประมาณเกินดุล ซึ่งอาจจะเลือกใช้ในยามที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายน้อยลง แต่เก็บภาษีมากขึ้น ก็เป็นเสมือนการดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวน้อยลงหรือหดตัว ก็จะช่วยให้เงินเฟ้อปรับลดลงได้

บทส่งท้าย

     นโยบายการเงินและนโยบายคลัง จะต้องดำเนินควบคู่กัน เพื่อช่วยกันรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงมักมีแนวทางสอดคล้ายกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าในสถานการณ์ใดควรใช้การดำเนินการจากนโยบายจากส่วนใดมากกว่าจึงจะเหมาะสม เนื่องจากทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังต่างก็ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกันก็จริง แต่มีการดำเนินการคนละภาคส่วนกัน จึงเหมาะในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน