ตามทฤษฎี อัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free) คือ ผลตอบแทนขั้นต่ำที่นักลงทุนคาดหวังสำหรับการลงทุนใดๆ หากต้องการได้รับผลตอบแทนมากขึ้น นักลงทุนจำเป็นต้องแลกด้วยการรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามระดับผลตอบแทนที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดย Risk Free จะต้องมี 2 เงื่อนไขสำคัญ คือ
- ไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ (Default Risk)
- ไม่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในการลงทุนต่อ (Reinvestment)
แม้ในเชิงปฏิบัติ Risk Free ไม่มีอยู่จริง เพราะการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่แม้จะน้อยมากก็ตาม จึงมักถือเอาอัตราผลตอบแทนของ ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) ที่มีอายุ 3 เดือน เป็นอัตราผลตอบแทนอ้างอิงของ Risk Free แทน
เนื่องจากตลาดมองว่า แทบไม่มีโอกาสที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระคืนเมื่อครบอายุสัญญา โดยเฉพาะเฉพาะสัญญาที่ช่วงอายุสั้นๆ เนื่องจากเป็นไปได้ยากมากๆที่จะมีปัจจัยเชิงลบเข้ามากระทบแรงๆ จนส่งผลให้รัฐบาลเกิดการผิดนัดชำระคืนเมื่อครบอายุสัญญา จึงให้ถือเอาผลตอบแทนของ ตั๋วเงินคลัง ในช่วงอายุ 1-3 เดือน เป็นอัตราผลตอบแทนอ้างอิงของ Risk Free
ข้อควรทราบเพิ่มเติม
- Risk Free ในแต่ละประเทศมีอัตราที่แตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อ Risk Free โดยตรง
- เรายังสามารถใช้ Risk Free เพื่อประยุกต์หา Risk Free ในระยะ 10 ปีได้จากการอิงผลตอบแทนของ พันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ได้เช่นกัน เนื่องจากตั๋วเงินคลัง จะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนพันธบัตรรัฐบาล จะมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
- Risk Free จะใช้อ้างอิงผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงได้ดีสุดในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ผันผวนมากนัก เนื่องจากช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย และหากผันผวนในทางลบ อาจจะส่งผลให้มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ได้มากขึ้น
- Risk Free เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของ Capital Asset Pricing Model (CAPM) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางการเงินที่กล่าวถึงการคำนวนอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง กับ ความเสี่ยงของตลาด ซึ่งสามารถนำมากำหนดอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Return) เมื่อเทียบกับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลงทุน