ตราสารหนี้ (Bond) เป็นตราสารทางการเงินที่เป็นสัญญาแสดงความเป็นหนี้ระหว่างผู้ออก และผู้ถือตราสารหนี้ โดยที่ผู้ออกตราสารหนี้คือผู้กู้เงินจากผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ดังนั้น ผู้ออกจึงมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ในขณะที่ผู้ซื้อมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ต่างจากตราสารทุน หรือ หุ้นสามัญ ที่ผู้ถือตราสารทุนจะลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ใช่เป็นเจ้าหนี้

     ตราสารหนี้ เป็นคำกว้างๆ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า “พันธบัตร” และ “หุ้นกู้” มากกว่า โดยพันธบัตรมักใช้เรียกตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนหุ้นกู้จะถูกเรียกใช้เมื่อออกโดยบริษัทเอกชน ในต่างประเทศจะใช้คำว่า “Bond” สำหรับตราสารหนี้ทั่วไปทั้งที่ออกโดยรัฐบาลและเอกชน แต่จะมีในบางกรณีที่อาจจะเรียกว่า “Debenture” เมื่อตราสารหนี้นั้นไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

องค์ประกอบของตราสารหนี้

  • มูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) หมายถึง มูลค่าเงินต้นที่ระบุไว้ในตราสารหนี้แต่ละหน่วยที่ผู้กู้ จะต้องชำระคืนให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้น เมื่อครบกำหนดชำระ มูลค่าดังกล่าวอาจลดลงเมื่อมีการทยอยจ่ายคืนเงินต้น
  • อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกมีภาระจะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้นๆ ตามงวดการจ่ายดอกเบี้ยที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น
  • งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency) คือ จำนวนครั้งของการดอกเบี้ยต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของผู้ออกตราสารหนี้ แต่โดยส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้มีการจ่ายดอกเบี้ยทุกครึ่งปี
  • วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity Date) หมายถึง วันหมดอายุของตราสารหนี้ ที่ผู้ออกจะต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้แก่ผู้ถือ
  • ข้อสัญญา และประเภทของตราสารหนี้ (Covenants) หมายถึง เงื่อนไข สิทธิแฝง และข้อมูลที่ระบุ ซึ่งผู้ถือจะต้องปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น เช่น การดำรงสัดส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกินอัตราที่กำหนด การให้สิทธิในการไถ่ถอนตราสารนั้นๆ ก่อนกำหนดตามที่ระบุไว้ เป็นต้น
  • ชื่อผู้ออก (Issuer Name) หากผู้ออกตราสารหนี้รายใดมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มาก อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้รายนั้นจะต้องเพิ่มสูงขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ผู้ซื้อตราสารหนี้จะต้องแบกรับเช่นกัน
  • ประเภทของตราสารหนี้ เนื่องจากตราสารหนี้แต่ละประเภทมีสิทธิ์ และผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจน

ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้

  • ดอกเบี้ย (Interest Income) คำนวนจากอัตราดอกเบี้ย และกำหนดเวลาที่ระบุไว้
  • ส่วนลด (Discount) ได้รับผลตอบแทนเป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาชำระคืนเมื่อครบกำหนด
  • กำไร / ขาดทุน จากการขายตราสารหนี้ (Capital Gain / Loss) โดยที่จะกำไรเมื่ออัตราดอกเบี้ยตลาดลดลง และจะขาดทุนเมื่ออัตราดอกเบี้ยตลาดเพิ่มขึ้น

ข้อดีของการลงทุนในตราสารหนี้

  • ตราสารหนี้มีอายุตั้งแต่ 1 วัน จนถึง 20 ปี และยังมีระดับความเสี่ยงที่หลากหลายให้เลือก ตามวัตถุประสงค์การลงทุน
  • ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการรายได้เสม่ำเสมอ
  • ลำดับสิทธิสูงกว่าหุ้นสามัญ เนื่องจากผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ขณะที่ผู้ลงทุนในหุ้นสามัญมีฐานะเป็น “เจ้าของ” ซึ่งเจ้าหนี้จะมีสิทธิ์ได้รับเงินคืนก่อนเจ้าของเสมอ
  • ช่วยในการกระจายความเสี่ยง (Diversification) เนื่องจากราคาและผลตอลแทนจากตราสารหนี้ จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาหุ้น จึงช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุนได้เป็นอย่างดี
  • มีสภาพคล่อง เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถซื้อ-ขาย-โอน-เปลี่ยนมือกันได้ที่ตลาดตราสารหนี้ (Thailand Bond Exchange: TBX) ซึ่งเปิดให้บริการการซื้อขายแก่นักลงทุนทั่วไปตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
  • สามารถนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เช่น ค้ำประกันธุรกิจ หรือ เก็บเป็นมรดกให้ลูกหลานได้

ปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าตราสารหนี้และผลตอบแทน

  • อัตราดอกเบี้ยในตลาด (Interest Rate)
  • หากตลาดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้มูลค่าตราสารหนี้ต่ำลง
  • หากมีตลาดการปรับลดดอกเบี้ย จะส่งผลให้มูลค่าตราสารหนี้สูงขึ้น
  • การรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จะบอกถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงหลักของผู้ออกตราสาร
  • หากได้รับการปรับความเชื่อถือสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้สูงขึ้นเช่นกัน
  • หากได้รับการปรับความเชื่อถือต่ำลง จะส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ต่ำลงเช่นกัน
  • ดูเรชั่น (Duration) คือ อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าปัจจุบันชองกระแสดอกเบี้ยรับที่จะได้รับในอนาคต ยิ่งตราสารหนี้มีอายุคงเหลือนาน ก็จะมีดูเรชั่นสูงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ A อายุคงเหลือ 10 ปี ดูเรชั่น 8.5 และหุ้นกู้ B อายุคงเหลือ 5 ปี ดูเรชั่น 4.6 หากดอกเบี้ยขึ้น 1% หุ้นกู้ A จะมีราคาลดลงประมาณ 8.5% ส่วนหุ้นกู้ B จะมีราคาลดลงประมาณ 4.6% นั่นเอง

ประเภทของตราสารหนี้ แบ่งได้หลายลักษณะ ดังนี้

1. แบ่งตามผู้ออกตราสาร

  • ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล ประกอบด้วย
  • ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) คือตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกจำหน่าย เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นจากประชาชน โดยตราสารหนี้ประเภทนี้จะไม่มีดอกเบี้ย แต่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างระหว่างราคาขายกับจำนวนเงินตามหน้าตั๋วซึ่งต่ำกว่าราคาขาย เช่น ซื้อตั๋วเงินคลังที่มีราคาหน้าตั๋ว 100 บาท ในราคา 97 บาท เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะได้รับเงินตามหน้าตั๋ว 100 บาท ผลต่าง 3 บาท ก็จะเป็นผลตอบแทนที่ได้
  • พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) เป็นตราสารหนี้ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ตราสารที่ออกโดยกระทรวงการคลังเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น (Default Risk) น้อย จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง แต่ตราสารประเภทนี้ก็ยังมีความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่ควรคำนึงถึง เช่น ความเสี่ยงด้านราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้
  • ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ เช่น พันธบัตรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พันธบัตรรัฐวิสาหกิจบางแห่งมักได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ตราสารหนี้ประเภทนี้มีความเสี่ยงของการผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นต่ำ แต่ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
  • ตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้มักถูกเรียกว่า “หุ้นกู้” มีทั้งอายุไม่เกิน 1 ปี (Short-term corporate bond) และ มากกว่า 1 ปี (Long-term corporate bond) เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชนเพื่อระดมทุนไปใช้ในการดำเนินกิจการ หุ้นกู้จะมีความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารอาจผิดนัดในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น ดังนั้น เอกชนจึงต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มากกว่า อีกทั้งหุ้นกู้บางประเภทยังมีสิทธิ์แปลงเป็นหุ้นสามัญได้ด้วย

2. แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง (Priority Claim)

  • หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) ในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย
  • หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ

3. แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน

  • หุ้นกู้มีหลักประกัน (Secured Bond) หมายถึง หุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารนำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเต็มที่ในสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ โดยปกติในทางปฏิบัติมักจะมีการตั้งบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) เพื่อทำการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน
  • หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Bond) หมายถึง หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้เป็นประกันในการออก ซึ่งหากผู้ออกตราสารล้มละลายต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน

4. แบ่งตามวิธีการจ่ายดอกเบี้ย

  • ตราสารหนี้ชนิดจ่ายดอกเบี้ยประจำ เป็นตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดตามที่กำหนดไว้ในตราสารหนี้ โดยทั่วไปจ่ายปีละ 2 ครั้ง ทุกงวด 6 เดือน ตลอดอายุของตราสารหนี้
  • ตราสารหนี้ชนิดทบดอกเบี้ย เป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างงวด แต่จะจ่ายให้เมื่อตราสารหนี้ครบกำหนด โดยทั่วไปดอกเบี้ยที่จ่ายเมื่อครบกำหนดอายุจะคำนวณทบต้นปีละ 2 ครั้ง
  • ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย (Zero-Coupon Bond) คือตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ยแต่จะขายต่ำกว่าราคาที่ตราไว้ และเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะได้รับเงินคืนเต็มราคาที่ตราไว้ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาที่ได้รับจากการไถ่ถอนเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน

5. แบ่งตามลักษณะการถือกรรมสิทธิ์

  • ตราสารหนี้ชนิดจ่ายเงินแก่ผู้ถือ (Bearer Bond) เป็นตราสารหนี้ที่จ่ายเงินให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้หรือบัตรดอกเบี้ย ตราสารหนี้ชนิดนี้จะมีบัตรดอกเบี้ยติดกับตัวตราสารหนี้ และโอนกรรมสิทธิ์กันได้โดยการส่งมอบ
  • ตราสารหนี้ชนิดจดทะเบียน (Registered Bond) เป็นตราสารหนี้ที่จ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อในตราสารหนี้และต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้ที่นายทะเบียน การโอนกรรมสิทธิ์ต้องกระทำโดยการจดทะเบียน ตราสารหนี้ชนิดนี้ไม่มีบัตรดอกเบี้ย แต่จะจ่ายดอกเบี้ยโดยการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่แจ้งความจำนงไว้
  • ตราสารหนี้ชนิดจดบัญชี (Inscribed Bond) เป็นตราสารหนี้ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีตราสารหนี้ไว้ครอบครอง แต่ฝากไว้กับนายทะเบียนซึ่งจะออกใบรับให้แก่ผู้จดบัญชี การจ่ายดอกเบี้ยกระทำโดยการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารตามที่แจ้งความจำนงไว้ การโอนกรรมสิทธิ์ต้องกระทำเป็นหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียน

6. แบ่งตามชนิดของอัตราดอกเบี้ย

  • ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Bond) เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดไว้
  • ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate Bond) เป็นหุ้นกู้ที่อัตราดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามอัตราอ้างอิงที่กำหนด เช่น อัตรา MLR+ 1%
  • ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) เกิดจากความไม่แน่นอนว่าบริษัทผู้ออกตราสารหนี้จะสามารถจ่ายคืนผู้ลงทุนตามที่กำหนดไว้ในตราสารหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็จะมีความเสี่ยงประเภทนี้น้อยกว่าหุ้นกู้ของเอกชน
  • ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เนื่องจากตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนในลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยที่แน่นอนให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ราคาของตราสารหนี้ในปัจจุบันก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยในทิศทางที่ตรงข้ามกัน แต่ถ้าผู้ลงทุนถือตราสารหนี้จนครบกำหนด ก็จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนตามที่กำหนดในตราสารหนี้นั้น
  • ความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) ดอกเบี้ยและเงินต้นที่ได้รับจากการลงทุนเมื่อนำไปลงทุนต่อ อาจจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิม
  • ความเสี่ยงจากความผันผวนในราคาของตราสารหนี้ (Price Risk) ราคาตราสารหนี้มีความผันผวนอันเนื่องจากภาวะของดอกเบี้ยในตลาด หากภาวะดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวลง
  • ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนไม่สามารถซื้อหรือขายสัญญาตราสารหนี้ในเวลาและราคาที่ต้องการได้