สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) หมายถึง สินค้าซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และมีราคากลาง ไม่ว่าจะผลิตจากที่ไหนหรือโดยใครก็ตาม เนื่องจากมีมาตรฐานสินค้าเดียวกัน ราคาตลาด (Market Price) จึงถูกกำหนดด้วยอุปสงค์ (Deamnd) และ อุปทาน (Supply) ของตลาดโลก แต่อาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละพื้นที่ สินค้าโภคภัณฑ์มักจะถูกนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือต้องกินต้องใช้กันในชีวิตประจำวันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
ประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์
- สินค้าด้านพลังงาน (Energy) มักเป็นแร่ธาตุธรรมชาติซึ่งมีอยู่จำกัด และต้องทำการขุดหรือสกัดก่อน
- สินค้าด้านพลังงาน (Energy) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
- โลหะอุตสาหกรรม (Industrial Metals) ได้แก่ อลูมิเนียม ทองแดง ตะกั่ว เป็นต้น
- โลหะมีค่า (Precious Metals) ได้แก่ ทองคำ และ เงิน
- สินค้าเกษตร (Agricultural) ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง กาแฟ น้ำตาล เป็นต้น
- สินค้าปศุสัตว์ (Livestock) ได้แก่ Feeder Cattle, Live Cattle, Lean Hogs เป็นต้น
- Feeder cattle คือ การปศุสัตว์เพื่อส่งขายให้ผู้อื่นเลี้ยงต่อ
- Live cattle คือ การปศุสัตว์เพื่อให้ได้น้ำหนักที่ต้องการ
- Lean hog คือ สัตว์เลี้ยงที่น้ำหนักถึงแล้ว สามารถนำไปขายต่อหรือแปรรูป
ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์
โดยปกติราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ จะมีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) แต่ละตัว ต่างก็มีปัจจัยของตัวเองแตกต่างกันออกไปด้วย แต่หลักๆแล้วราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ จะถูกกำหนดจากปัจจัยดังนี้
- เงินเฟ้อ ถือเป็นปัจจัยหลักเนื่องจากเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ มูลค่าของเงินจะลดลง ส่งผลให้ต้องใช้เงินในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าเท่าเดิม แต่ในทางกลับกันหากเราลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาก็จะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามทิศทางของเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน
- ปัจจัยของแต่ละกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ แม้ราคาจะมีทิศทางเดียวกับเงินเฟ้อแต่สินค้าโภคภัณฑ์แต่ละอย่างต่างก็มี อุปสงค์ (Deamnd) และ อุปทาน (Supply) เฉพาะตัวแตกต่างกันไป อาจมีบางปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อหลาย สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น
- เมื่อมีเชื้อแพร่ระบาดในไก่ จะส่งผลให้ราคาไก่ปรับตัวลง และราคาหมูปรับตัวขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ แต่หากเป็นพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งแพร่ระบาด ราคาไก่และหมูอาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้
- เมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติ จะส่งผลให้สินค้าต่างๆมีความต้องการสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หลายตัวจึงปรับตัวขึ้นตาม แต่แต่ละสินค้าก็ยังได้รับผลกระทบไม่เท่ากันอีกอยู่ดี
การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์
- ลงทุนโดยตรง (Direct Investment) เป็นการลงทุนในสินค้าจริงๆ เช่น การซื้อทองจริงมาถือ แต่อย่างไรก็ดีการลงทุนโดยตรงในกลุ่มพลังงานหรือการเกษตรสามารถทำได้ยาก เนื่องจากมีต้นทุนจากการสูญหายและเก็บรักษาสูง
- ลงทุนในสัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodities Futures) การลงทุนในลักษณะนี้ มักใช้เพื่อ
- ถัวความเสี่ยง (Hedging) เช่น ในกรณีที่ถือครองทองคำจริงอยู่ แต่คาดการณ์ว่าในอนาคตราคาทองน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลง และยังไม่อยากขายทองคำที่ถืออยู่ไป จึงทำการเปิดสัญญาขาย (Short) ทองล่วงหน้าไว้ก่อน เพื่อเป็นการถัวความเสี่ยง
- การเก็งกำไร (Speculation) นักลงทุนที่ลงทุนในลักษณะนี้จะเน้นทำกำไรจากส่วนต่าง จากการแกว่งตัวของราคา โดยไม่สนใจว่าเป็นสินค้าใด สนใจเพียงว่าจะสามารถทำกำไรจากส่วนต่างได้หรือไม่
- ลงทุนทางอ้อม (Indirect Investment) เช่น การลงทุนในกองทุน ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Commodity ETF (ย่อมาจาก Exchange-traded Fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่รวบรวมเงินนักลงทุนไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อีกทอดหนึ่ง
ในเชิงการลงทุน สินค้าโภคภัณฑ์ที่ “จับต้องได้” จะเรียกว่า Real Assets แต่หากเป็นตราสารทางการเงินซึ่ง “จับต้องไม่ได้” จะเรียกว่า Financial Assets