ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนของคุณอย่างต่อเนื่องโดยการเล่นกับเวลาที่ผ่านไป หากคุณเข้าใจและใช้มันอย่างถูกต้อง มันจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าคุณจะวางแผนเพื่อเกษียณ ซื้อบ้าน หรือออมเงินเพื่ออนาคต
ดอกเบี้ยทบต้นคืออะไร?
ดอกเบี้ยทบต้น คือ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่สะสมในรอบก่อนหน้า พูดง่ายๆ คือ เราได้รับดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยอีกที ทำให้เงินลงทุนของเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
แม้หลักการของดอกเบี้ยทบต้นจะดูคล้ายๆกับ การนำเงินทุนมาลงทุนอีกรอบ (Reinvest) แต่การ Reinvest มีโอกาสที่จะทำให้เกิดรอยต่อของการลงทุนไม่มากก็น้อย เนื่องจากจะมีช่วงเวลาที่นำเงินก้อนที่ครบกำหนด กลับไปทำการซื้อสินทรัพย์เดิมอีกรอบ ส่งผลให้สูญเสียระยะเวลาในการรับผลตอบแทน (ซึ่งในกรณีนี้คือดอกเบี้ย) ไปไม่มากก็น้อย
ซึ่งหลักการของดอกเบี้ยทบต้น จะเล่นกับเวลาเป็นหลัก ยิ่งมีเวลาลงทุนนานเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้ ดอกเบี้ยทบต้น ได้แสดงศักยภาพออกมาได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัวนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ดอกเบี้ยทบต้น จึงมีประสิทธิภาพกว่าการ Reinvest และยังลดโอกาสในการลืมนำเงินก้อนเดิมที่ครบกำหนดกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้งด้วย
แม้จะฟังดูดี แต่ในอีกแง่มุม หากเป็นดอกเบี้ยทบต้นของการกู้ยืม ก็จะทำให้ผู้กู้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากขึ้นในการคือเงิน ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยและเงินต้นมากขึ้นตามระยะเวลาที่กู้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จึงกล่าวถึงดอกเบี้ยเงินต้นไว้ว่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก
ดอกเบี้ยทบต้นสำคัญอย่างไร?
เพิ่มเงินออมอย่างรวดเร็ว
ในช่วงแรกๆ การทำงานของดอกเบี้ยทบต้นจะยังไม่แสดงศักยภาพมากนัก แต่เมื่อเวลายิ่งผ่านไปนานขึ้น ผลของดอกเบี้ยทบต้นก็จะยิ่งทรงอานุภาพ
หากสังเกตุกราฟด้านบน จะเห็นว่าในข่วง 0-1 จำเป็นช่วงที่ ดอกเบี้ยทบต้น ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า ดอกเบี้ยปกติ แต่หลังช่วงที่ 1 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยทบต้น จะให้ผลตอบแทนมากกว่า ดอกเบี้ยปกติ
สร้างความมั่นคงทางการเงิน
ด้วยหลักการของ ดอกเบี้ยทบต้น ที่เล่นกับเวลาอยู่แล้ว จึงเหมาะอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นคงในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ
ตัวอย่างในกราฟด้านบนจะแสดง ความต่างของผลตอบแทนที่ต่างกัน ภายในระยะเวลาที่เท่ากัน จะสังเกตุว่า ในช่วงแรกผลตอบแทนจะแทบไม่ต่างกันเลย แต่เมื่อระยะเวลายิ่งผ่านไปนานขึ้นเรื่อยๆ สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า จะส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนของดอกเบี้ยทบต้นที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังกราฟด้านบน
การคำนวณดอกเบี้ยทบต้น
ตัวอย่างการคำนวน ดอกเบี้ยทบต้น
สมมติว่าคุณลงทุน 10,000 บาท กับอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และคุณไม่ถอนเงินเลย
- ปีที่ 1 : คุณจะมีเงิน 10,500 บาท
- ปีที่ 2 : คุณจะมีเงิน 11,025 บาท (ดอกเบี้ยจาก 10,500 บาท)
- ปีที่ 3 : คุณจะมีเงิน 11,576.25 บาท (ดอกเบี้ยจาก 11,025 บาท)
วิธีใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้น
หลังจากทราบถึง หลักการ และความสำคัญ ของดอกเบี้ยทบต้นไปแล้ว เราลองมาดูกันดีกว่าว่า แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง จึงจะนำหลักการของดอกเบี้ยทบต้น มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- เริ่มลงทุนให้เร็วที่สุด: ยิ่งเริ่มต้นเร็ว ยิ่งมีเวลามากขึ้นให้เงินโต
- ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ: การลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ดอกเบี้ยทบต้นทำงานได้อย่างเต็มที่
- เลือกการลงทุนที่ดี: เลือกการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูง แต่ต้องคำนึงถึงระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ และความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนด้วย
เรื่องราวความสำเร็จจากดอกเบี้ยทบต้น
ลองดูตัวอย่างจากเรื่องราวของ Warren Buffett นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในโลกนี้ ด้วยการเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 11 ปี และใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นในการเพิ่มพูนความมั่งคั่งของเขา ทำให้เขาเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในปัจจุบัน
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Grace Groner ที่ลงทุนเพียง $180 ในหุ้นของ Abbott Laboratories และถือหุ้นไว้กว่า 70 ปี โดยไม่ขายออก ทำให้มูลค่าหุ้นของเธอเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า $7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่เป็นผลลัพธ์จากการที่ดอกเบี้ยทบต้นทำงานให้กับการลงทุนในระยะยาว
คำแนะนำเพิ่มเติม
- ความเสี่ยงจากการลงทุน: ทุกผลิตภัณฑ์การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาผลิตภัณฑ์การลงทุนให้หลากหลายก่อน
- ค่าธรรมเนียม: การเลือก โบรคเกอร์ หรือ แพลตฟอร์ม ในการซื้อขายที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ อาจช่วยลดต้นทุนในการซื้อขายลงได้ แต่ต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการด้วย
- ภาษี: ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน ดังนั้นอย่าลืมวางแผนเรื่องภาษีที่จะต้องจ่ายจากผลตอบแทนการลงทุนด้วย
สรุป “ดอกเบี้ยทบต้น”
ดอกเบี้ยทบต้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากในการเพิ่มเงินลงทุนของคุณ การเข้าใจและใช้หลักการดอกเบี้ยทบต้นให้ถูกวิธี จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้อย่าลืมปรังปรุงพอร์ทการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วย