การค้าระหว่างประเทศ

0
1645
International-Trade-Featured

     ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ผู้บริโภคจะมีความต้องการในตลาดสูง จึงเป็นช่วงที่แนวคิด เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ได้รับความนิยม และในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนหรือแนวโน้มเศรษฐกิจขาลง จะส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคลดลง จึงเป็นเหตุให้มีการ ปกป้องกันการค้าระหว่างประเทศ (Protectionism) มากขึ้น เพื่อชดเชยความต้องการจากต่างประเทศที่ลดหายไปนั่นเอง

     เมื่อก่อนเรามักจะได้ยินคำว่า FTA ซึ่งหมายถึง เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) อยู่บ่อยครั้งตามข่าวเศรษฐกิจโลก ซึ่งหมายถึง การทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภายในเขตการค้า จากมาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภายในเขตการค้าเสรี

     การร่วมมือกันทางการค้าในลักษณะเขตการค้าเสรีนั้น มีการนำแนวคิดของการแบ่งงานกันทำมาใช้ โดยการเลือกผลิตสินค้าและส่งออกสินค้าที่ตนถนัด และนำเข้าสินค้าที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าการผลิตเองในประเทศ เพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่ย้ายไปผลิตสินค้าที่ตนถนัดแทน ตามหลักของการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale : EOS) เพื่อให้ผลผลิตที่ได้ออกมามีคุณภาพที่ต้องการในต้นทุนที่ต่ำที่สุด ส่งผลให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และผลประโยชน์โดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย

หมายเหตุ :: โดยหากเป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ จะเรียกว่า “ทวิภาคี” หรือหากเป็นการรวมกลุ่มของหลายๆประเทศ จะเรียกว่า “พหุภาคึ”

     ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า ปกป้องกันการค้าระหว่างประเทศ (Protectionism) หนาหูขึ้น โดยปกติการป้องกันทางการค้าจะมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตภายในประเทศ ไม่ให้ถูกสินค้าจากต่างชาติเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด รวมถึงแรงงานภายในประเทศไม่ให้ถูกแย่งงาน เพื่อลดภาระการพึ่งพิงหรือขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ รวมถึงเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ตลาดในประเทศนั้นจึงเป็นส่วนที่ต้องรักษาไว้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

     รัฐบาลจึงมีการออกนโยบายต่างๆเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อรีดอุปสงค์ (Demand) ของประชากรในประเทศ ผ่านทางช่องทางการจับจ่ายใช้สอยประเภทต่าง รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ การให้เงินอุดหนุน เช่น โครงการชิมช้อปใช้ และการลดหย่อนภาษีเมื่อมีการใช้จ่ายในช่องทางที่กำหนด เช่น การใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวเมืองรอง

     นอกจากนั้นรัฐบาลยังดำเนินนโยบายอื่นๆควบคู่ เช่น การจำกัดการนำเข้า การอุดหนุนผู้ผลิตภายในประเทศ การอุดหนุนการส่งออก เป็นต้น เพื่อลดโอกาสการขาดดุลทางการค้า และส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศจากทุกๆช่องทาง

ข้อสนับสนุนการค้าเสรี

  • การค้าเสรีช่วยเพิ่มขนาดของเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากมีการแบ่งงานกันทำตามทรัพยากรและทักษะความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและนำไปสู่ค่าจ้างที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะยาวจากความเชี่ยวชาญในการผลิต 
  • การค้าเสรีจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค เนื่องจากจะมีการลดภาษีและเพิ่มอัตราการแข่งขัน จะส่งผลให้มีการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งสามารถเคลื่อย้ายสินค้าไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งมีความต้องการสินค้ามากกว่าพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิต
  • การลดอุปสรรคทางการค้า จะช่วยให้ต้นทุนการซื้อขายลดลง โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับกฎระเบียบเพียงชุดเดียวค่าใช้จ่ายของ ‘การปฏิบัติตาม’ จะลดลง โดยหลักการแล้วจะทำให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลง
  • สงครามทางการค้า จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนจากความพยายามในการปกป้องเศรษฐกิจ และการปกป้องการค้ามักจะเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากมีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่ารายย่อย

ข้อสนับสนุนการปกป้องการค้า

  • การปกป้องการค้าภายในประเทศ ยังช่วยในการชะลอผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม เพื่อซื้อเวลาให้ผู้ผลิตภายในประเทศ สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์การค้าโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้ด้วย
  • การปกป้องการค้าภายในประเทศ อาจก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น ซึ่งอาจมีต้นทุนสูงและยากที่จะแข่งขันในตลาดได้ แต่หากได้รับการสนับสนุนทางภาษีหรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล อุปสรรคดังกล่าวก็อาจกลายเป็นความได้เปรียบได้เช่นกัน
  • การปกป้องทางการค้าภายในประเทศยังคงมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะพลังงาน และน้ำ เนื่องจากหากปล่อยให้เอกชนผูกขาดในอุตสาหกรรมดังกล่าว อาจจะก่อให้เกิดปัญหาและไม่สามารถควบคุมราคาได้ ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตามมา
  • ผู้บริโภคมีความกังวลว่า การค้าเสรีจะส่งผลให้คุณภาพสินค้าด้อยลงจากเดิม หรือต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากผู้ผลิตอาจลดต้นทุนลงเพื่อ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันกับบริษัทที่มีมาตรฐานต่ำกว่า

บทส่งท้าย

     แม้การเคลื่อนย้ายย้ายวัตถุดิบ แรงงาน และทุน ในปัจจุบันจะมีต้นทุนต่ำลงมากก็ตาม แต่ในระยะยาว (Long-Term) ยังคงมีแนวโน้มว่า แต่ละประเทศจะสามารถผลิตสินค้าต่างๆด้วยต้นทุนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จึงทำให้รายการสินค้าส่งออกและนำเข้ามีแนวโน้มลดลง จนเหลือเพียงสินค้าที่ได้เปรียบทางการค้าจริงๆ หรือไม่สามารถหาได้ในท้องถิ่นเท่านั้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here