เมื่อเศรษฐกิจดำเนินไปสิ่งที่ใช้เป็นตัวชี้วัดผลทางเศรษฐกิจของประเทศคือดัชนีต่างๆ ซึ่งดัชนีสำคัญที่รวมทุกปัจจัยในประเทศไว้อย่างครบถ้วนคงหนีไม่พ้น ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั่นเอง นอกจากนั้นแล้วยังมีดัชนีอื่นๆที่น่าสนใจอีกเช่น GNP NNP NI PI DPI และตัวเลขปลีกย่อยทางเศรษฐกิจอีกมากมายที่ล้วนเป็นตัวบงชี้แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ดุลการค้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนจากภาคธุรกิจ เป็นต้น

     ในส่วนของบทความนี้จะขอกล่าวแค่ตัวบ่งชี้เศรษฐกิจที่สำคัญๆอย่าง GDP GNP NNP NI PI และ DPI กันก่อน เรามาเริ่มศึกษากันเลยดีกว่า ว่าตัวเบ่งชี้เศรษฐกิจที่กล่าวมานั้นมีที่มาอย่างไร และมีความสำคัญต่อการคาดการณ์แนโน้มเศรษฐกิจอย่างไรกันบ้าง

     GDP (Gross Domestic Product)  หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” หมายถึง หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด คิดค้นโดย Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย ซึ่งได้รับรางรัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี ค.ศ.1971 โดยที่ GDP ยังสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศนั้นๆ แต่ไม่สามารถใช้ชี้วัดคุณภาพชีวิตที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรสูง โดยมีสมการดังนี้

GDP = C + I + G + (X-M)

C = Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชน โดยใช้ Consumer Price Index (CPI) เป็นตัวชี้วัด
I = Investment คือ การลงทุนจากภาคเอกชน โดยใช้  Purchasing Manager Index  (PMI) เป็นตัวชี้วัด
G = Government Spending คือ รายจ่ายและการลงทุนภาครัฐ เช่น เงินเดือนของข้าราชการ รวมถึงโครงการจากภาครัฐ
Export(X) – Import(M)  คือ ตัวเลขสุทธิการ ส่งออก (Export) – นำเข้า (Import) หรืออาจจะเรียกว่า ตัวเลขดุลการค้าสุทธิ

     GNP (Gross National Product) หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” หมายถึง มูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตขึ้นโดยพลเมืองและทรัพยากรของประเทศนั้นๆ ภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงผลผลิตที่พลเมืองของประเทศนั้นได้ก่อให้เกิดขึ้นมาในต่างประเทศด้วย โดยไม่นับรวมกับผลผลิตของต่างชาติที่ได้ทำการผลิตขึ้นภายในประเทศนั้น ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งมีสมการดังนี้GNP = GDP + [ รายได้ของคนไทยจากต่างประเทศ – รายได้ของคนต่างประเทศในไทย ]

GNP = GDP + [ รายได้ของคนไทยจากต่างประเทศ – รายได้ของคนต่างประเทศในไทย ]

หมายเหตุ :: ในความเป็นจริงนั้น มูลค่า GNP อาจจะสูง หรือต่ำกว่า GDP ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า รายได้ในต่างประเทศจากฝีมือของบุคคลในประเทศ สูง หรือต่ำกว่า รายได้ที่สร้างขึ้นในประเทศโดยฝีมือของชาวต่างชาติ

     NNP (Net National Product) หรือ “ผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ หมายถึง มูลค่ารวมในราคาตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ประชาชาติผลิตขึ้นได้ โดยใช้ปัจจัยการผลิตของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวรแล้ว ซึ่งมีสมการดังนี้

NNP = GNP – ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวร

     NI (National Income) หรือ “รายได้ประชาชาติ” หมายถึง มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังหักภาษีทางอ้อมสุทธิแล้ว

     ภาษีทางอ้อม หมายถึง ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บจากองค์การธุรกิจ เช่น ภาษีการค้า ภาษีสรรพสามิต ซึ่งองค์การธุรกิจจะผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภคอีกต่อหนึ่งโดยการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ ฉะนั้น เพื่อให้ได้ประชาชาติที่แท้จริง จึงต้องหักภาษีทางอ้อมออกจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ

     ในบางครั้งรัฐบาลอาจมีการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับบางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนจึงทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องนำรายการทั้งสองมาหักลบกันซึ่งจะเรียกว่า ภาษีทางอ้อมหักเงินอุดหนุน จึงทำให้ตัวเลข NI มีสมการดังนี้

NI = NNP – (ภาษีทางอ้อม + เงินอุดหนุน)

     PI (Personal Incomeหรือ “รายได้ส่วนบุคคล” หมายถึง รายได้ที่ครัวเรือนได้รับจริงก่อนหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งรายได้ที่ว่านี้จะต้องเป็นรายได้ที่ถูกหักค่าตอบแทนของปัจจัยการผลิต หรือกำไรที่ธุรกิจกันไว้บางส่วนเพื่อขยายกิจการ บวกด้วยเงินโอนต่างๆของรัฐบาลที่จ่ายให้แก่ผู้ได้รับความช่วยเหลือหรือบริจาคหรือการยกทรัพย์สินให้กัน ซึ่งมีสมการดังนี้

PI = NI – รายได้บางส่วนที่ไม่ได้ตกถึงบุคคลธรรมดา + เงินโอนต่างๆ

     DPI (Disposable Personal Income) หรือ รายได้ส่วนบุคคลหลังหักภาษี” หมายถึง รายได้ทั้งหมดที่ครัวเรือนได้รับมา (PI) ส่วนหนึ่งจะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล (Personal income tax) ที่เหลือจึงจะสามารถนำไปใช้จ่ายได้ รายได้ชนิดนี้แสดงถึงอำนาจซื้อ (Purchasing power) ที่แท้จริงของประชาชน รวมทั้งความสามารถในการออมด้วย

DPI = PI – ภาษีเงินได้

     หวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะทำให้นักลงทุนที่สนใจทราบและเข้าใจถึงระดับความสำคัญของตัวบ่งชี้เศรษฐกิจที่สำคัญได้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และสามารถคาดการณ์แนวโน้มหรือทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อนำไปปรับกลยุทธในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม เนื่องด้วยแต่ละช่วงของเศรษฐกิจนั้น มีความน่าสนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างกัน ซึ่งสามารถดูเพิ่มเติมได้ในบทความ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) และในบทความถัดไปจะกล่าวถึงความสำคัญของตัวเลขอื่นๆที่มีความสำคัญรองลงมา

เราสามารถดูตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆของไทยและของประเทศอื่นๆ ได้จากลิงค์ด้านล่างนี้

https://tradingeconomics.com/