อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือ Required Reserve Ratio (RRR) หมายถึง อัตราส่วนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บไว้เป็นเงินสำรอง (Reserve) ซึ่งอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (RRR) จะถูกกำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถเก็บเงินสำรองเหล่านี้ไว้ในรูปของเงินสด หรือนำไปฝากไว้กับธนาคารกลาง
ตัวอย่าง ในกรณีที่อัตราเงินสำรองถูกกำหนดไว้ 10% ของยอดเงินฝากทั้งหมด จะส่งผลให้เงินฝากที่ประชาชนนำมาฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ทุกๆ 100 บาท ต้องถูกเก็บไว้เป็นเงินสำรองจำนวนอย่างน้อย 10 บาท และส่วนที่เหลืออีก 90 บาท เรียกว่าเป็นเงินสำรองส่วนเกิน (Excess Reserve) ซึ่งธนาคารพาณิชย์สามารถนำไปปล่อยกู้ หรือลงทุนหาผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ ได้
การเพิ่ม-ลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง มักใช้เมื่อไหร่ และส่งผลอย่างไร
- การเพิ่มอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น จาก 10% เพิ่มเป็น 15% จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เหลือเงินน้อยลงในการนำเงินสดสำรองส่วนเกิน (Excess Reserve) ไปปล่อยกู้ หรือหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจึงมักใช้การเพิ่มอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อชะลอเงินเฟ้อในระบบให้อยู่ในระดับที่ต้องการ การเพิ่มอัตราส่วนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินแบบเข้มงวด
- การลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น จาก 10% เพิ่มเป็น 5% จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เหลือเงินมากขึ้นในการนำเงินสดสำรองส่วนเกิน (Excess Reserve) ไปปล่อยกู้ หรือหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจึงมักใช้การลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่ซบเซา เนื่องจากจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้แก่เอกชนได้มากขึ้นจึงเป็นวิธีผลักดันเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง การลดอัตราส่วนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
ธนาคารกลางของประเทศต่างๆจึงมักจะมีการบังคับใช้ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (RRR) เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องฉุกเฉิน หรือเมื่อมีปริมาณเงินไม่เพียงพอต่อความต้องการถอนเงินของผู้ฝาก ซึ่งอาจเป็นชวนให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ในที่สุด
หากธนาคารพาณิชย์มีการเก็บเงินสำรองไว้ตามที่ธนาคารกลางกำหนด แม้ว่าจะเกิดการขาดสภาพคล่องฉุกเฉิน ธนาคารพาณิชย์ก็ยังสามารถนำเงินจากส่วนของเงินสำรองนี้มาเบิกจ่ายแก่ผู้ที่ต้องการถอนเงินก่อนได้ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (RRR) จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเศรษฐกิจ