วิกฤตเศรษฐกิจโลก

0
1960
Crisis-Ahead

     เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชากรในสังคม ยิ่งเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ปัญหาก็ยิ่งเยอะขึ้นเท่านั้น ซึ่งผลกระทบที่แต่ละคนนั้นได้รับนั้น จะแตกต่างกันตามระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของแต่ละบุคคลด้วย หากบุคคลใดต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและสังคมในระดับสูง รวมทั้งได้รับผลกระทบโดยตรงมาก บุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบสูงตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ และการปรับตัวของแต่ละคนอีกเช่นกัน

     ผมจึงรวบรวมวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไว้ในบทความนี้ เพื่อให้เข้าใจสาเหตุของวิกฤตในแต่ละครั้ง เมื่อมีสัญญาณบ่งชี้ในลักษณะคล้ายกัน จะได้เตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสียหาย หรืออาจสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้เช่นกัน

Embargo Act of 1807

นโยบายปิดประเทศของสหรัฐ (Embargo Act of 1807)

     ในช่วงที่ยุโรปกำลังเกิดสงครามนโปเลียน ประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันพยายามที่จะธำรงความเป็นกลางของสหรัฐไว้ แม้ว่าเรือสินค้าของสหรัฐยังคงถูกตรวจค้นและปล้มสะดมโดยทางการอังกฤษ และกองทัพเรืออังกฤษยังลักพาตัวชายชาวอเมริกาจำนวนมากเพื่อนำไปเข้าร่วมกองทัพเรือในการสู้รบกับฝรั่งเศส (Impressment)

     ค.ศ.1807 สภาองคมนตรีของอังกฤษออกคำสั่งให้ทัพเรืออังกฤษนำกำลังเข้าปิดล้อมไม่ให้สหรัฐสามารถทำการค้าขายกับฝรั่งเศสได้ เจฟเฟอร์สันจึงตอบโต้ออกกฎหมายคว่ำบาตรทางการค้า (Embargo Act) ในปีเดียวกัน คือห้ามไม่ให้ชาวอเมริกาทำการค้าขายกับประเทศใดๆในยุโรปและอาณานิคมของประเทศเหล่านั้น นโยบายนี้ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐตกต่ำลง ราคาสินค้าทางเกษตรตกต่ำอย่างแรงเพราะไม่สามารถส่งออกได้ ส่งผลให้ปริมาณส่งออกเหลือเพียง 20% จากเดิม ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้รับผลเสียใดๆจากนโยบายนี้ จนในที่สุดกฎหมายนี้จึงถูกยกเลิกไปใน ค.ศ.1810

Promissory-Note-Panic-of-1819

Panic of 1819

     ค.ศ.1812-1817 เป็นยุครุ่งเรื่องของสหรัฐจากความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ส่งผลให้สินค้าของสหรัฐเป็นที่ต้องการมากในยุโรปโดยเฉพาะสินค้าการเกษตร รัฐบาลสหรัฐจึงอนุญาติให้ประชาชนสามารถซื้อที่ดินได้ด้วยวงเงินเครดิต เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและขยายการส่งออกในช่วงนั้น มีการจัดตั้ง The Second Bank of the United States ในปี ค.ศ.1818 โดยมีนโยบายขยายเครดิตการปล่อยกู้ รวมทั้งมีการออกธนบัตรจำนวนมากโดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลังจากทองคำและเงิน ธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยกู้มากกว่าจำนวนเงินฝาก โดยเฉพาะในรูปของออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note)

     ค.ศ.1818 เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มหดตัวลงจากการขาดดุลการค้า และขาดดุลอย่างหนักในปี ค.ศ.1819 จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ประกอบกับทางยุโรปเริ่มผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะข้าวสาลี ฝ้าย และยาสูบ ธนาคารกลางสหรัฐรวมทั้งธนาคารของรัฐและเอกชน เริ่มเรียกคืนเงินกู้ที่ปล่อยกู้ยืมไปจากประชาชน โดยเรียกร้องให้ชำระเงินคืนในทันที ส่งผลให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระและถูกยึดทรัพย์ที่นำมาจำนอง เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกในช่วงดังกล่าวเป็นอย่างมาก ธนาคารจำนวนมากล้มละลายเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายผู้ที่นำเงินมาฝาก และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก

Panic-of-1837

วิกฤตการณ์ทางการเงินแบบฉับพลัน (Panic of 1837)

     วิกฤตนี้เกิดขึ้นหลังช่วงเศรษฐกิจขยายตัวกลางปี ค.ศ.1834 กลางปี ค.ศ.1836 ราคาที่ดิน ฝ้าย และทาส เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี ค.ศ.1837 เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ผลกำไรจากการค้าและค่าจ้างเริ่มปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราการว่างงานเริ่มสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกสหรัฐดูมีแนวโน้มแย่ลง ราคาฝ้ายตกลดลงอย่างหนัก ราคาที่ดินเกิดฟองสบู่ หลังจากมีเหรียญกษาปณ์จำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าสหรัฐ ซึ่งมาจากเม๊กซิโกและจีน และในวันที่ 10 พฤษภาคม 1837 Bank of New York ประกาศว่าจะไม่รับเหรียญกษาปณ์

     ภายในช่วง2เดือนธนาคารในรัฐนิวยอร์กประสบผลขาดทุนเกือบ 100 ล้านเหรียญ ธนาคารในสหรัฐ 343 แห่งปิดทำการ อีก 62 ก็ยังต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนักรวมทั้งธนาคารของรัฐด้วย โดยที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ได้รับความเสี่ยหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ วิกฤตครั้งนี้ยังส่งผลต่อเนื่องและค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติในช่วงปี ค.ศ.1842-1843

Panic of 1857

วิกฤตอันแสนน่ากลัวใน (Panic of 1857)

     นับเป็นครั้งแรกที่วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบไปทั่วโลก หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากการได้ดินแดนในแถบตะวันตกจากการชนะสงครามที่เม๊กซิโกในช่วง ค.ศ.1846-48 และการค้บพบทองคำในแคลิฟอร์เนีย ก่อให้เกิดการเก็งกำไรและก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งส่งผลให้สหรัฐกลายเป็นผู้ส่งออกทองคำสุทธิ ในยุคนั้นถือได้ว่ารถไฟเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ มีการก่อสร้างทางรถไฟกว่า 20,000 ไมล์ในช่วงยุค ค.ศ.1850 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐที่จัดสรรที่ดิน และการระดมทุนในตลาดหุ้น (Wall Street) รวมทั้งยังมีการลงทุนจากต่างประเทศด้วยโดยเฉพาะจากทางอังกฤษ

     ในยุคนั้นยังการย้ายถิ่นฐานของชาวยุโรปไปยังแถบตะวันตกตอนกลางของสหรัฐ การขายที่ดินของรัฐและผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้นจากจำนวนฟาร์มทำให้เศรษฐกิจเติบโต ในขณะที่มีความต้องการสินค้าทางการเกษตรจากสงครามไครเมีย (ค.ศ.1854-56) มีการเกิดการเก็งกำไรที่ดินในตลาดอสังหา ขณะที่ทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าการเกษตรก็ขยายตัวตามอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการให้เครดิตแก่ลูกค้าง่ายขึ้นมากในช่วง ค.ศ.1850-57 ที่สำคัญยังมีเมืองนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์คอยป้อนเงินเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย

     ในปี ค.ศ.1857 ราคาและความต้องการสินค้าการเกษตรในยุโรปได้ลดลงมากหลังสิ้นสุดสงครามไครเมียส่งผลให้เกษตรชาวสหรัฐกลายเป็นหนี้ธนาคารจำนวนมากจากการกู้ยืมมาเพื่อขยายธุรกิจ รวมทั้งเงินที่กู้ยืมมาเก็งกำไรในช่วงก่อนหน้า เหตุการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อธนาคารมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยจึงทำให้วิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายลง และค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติในช่วงปี ค.ศ.1859

Great-Depression-1929

เหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทตก ค.ศ.1929 (Great Depression)

       แม้สภาพเศรษฐกิจจะกำลังเฟื่องฟูแต่สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาภายในประเทศแอบแฝงอยู่ จากที่สหรัฐลดจำนวนกำลังพลในกองทัพที่มีอยู่ 4 ล้านคนลง จึงมีอดีตทหารเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศเป็นจำนวนมาก การมีแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ค่าแรงลดเฉียบพลันและคนจำนวนมากไม่มีงานทำ ทว่าการเติบโตในอัตราสูงของเศรษฐกิจจากการส่งออก ซึ่งนำเงินสดไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ยังคงส่งผลให้ตลาดหุ้นเฟื่องเป็นประวัติการณ์ บรรดานักธุรกิจทั้งหลายต่างมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ภาพลวงตาของความมั่งคั่งเหล่านี้ ได้บดบังปัญหาที่แท้จริงซึ่งแฝงตัวอยู่

       จนมาถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1929 ราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลง แต่บรรดานักลงทุนจะยังไม่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จนมาถึงวันที่ 21 ตุลาคม ราคาหุ้นก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว นักเก็งกำไรต่างพากันเสียขวัญและเทขายจนราคาหุ้นร่วงกราว วันที่ 28 ตุลาคม ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงถึงร้อยละ 13 และวันต่อมา ก็ตกลงอีกร้อยละ 12 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ที่กู้เงินมาซื้อหุ้นก่อนหน้านั้นก็พากันเป็นหนี้สิน คนจำนวนมากหมดตัวและล้มละลายในชั่วข้ามคืน และมีนักเก็งกำไรหลายคนเลือกที่จะปลิดชีพตัวเองเพื่อหนีหนี้จำนวนมหาศาล

       ค.ศ. 1932 เศรษฐกิจของสหรัฐก็ถอยลงถึงร้อยละ 31 พร้อมๆ กับที่เงินสดกว่า 2,000 ล้านเหรียญในธนาคารสูญไป หลังจากธนาคาร 10,000 แห่งปิดตัวลง ราคาที่ดินตกลงร้อยละ 53 ชาวนาเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ทั้งนี้ แต่เดิมคนกลุ่มนี้ก็มีรายได้น้อยกว่าชาวอเมริกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย รายได้ของพวกเขาก็ยิ่งลดน้อยลงไปอีก ประกอบกับได้เกิดภาวะภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ จนในที่สุดพื้นที่กสิกรรมส่วนใหญ่ของประเทศก็กลายสภาพเป็นทะเลฝุ่นที่ว่างเปล่า ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากพากันสิ้นเนื้อประดาตัว

       แม้ว่าหลังปี ค.ศ. 1932 ภาวะวิกฤตจะทุเลาลง จนเริ่มกลับคืนสู่สภาพเดิมในปี ค.ศ. 1937 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังส่งผลเสียทางสังคมเป็นอันมาก ที่สำคัญเหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่มเพาะความไม่พอใจและความวุ่นวายที่ต่อมาได้ปะทุขึ้นและลุกลามไปทั่วโลก จนในที่สุดความขัดแย้งเหล่านี้ก็นำไปสู่การเผชิญหน้าที่ชาวโลกรู้จักในชื่อ สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านพ้นไปไม่ถึง 20 ปีเท่านั้น

Oil-Crisis-1973

วิกฤติน้ำมัน ค.ศ.1973 และ ค.ศ.1979 (Oil Crisis)

     ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในปี ค.ศ.1973 เพิ่มจาก 3.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือเกือบ 4 เท่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากสงครามคิปปูร์ (Yom Kippur War) ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์และซีเรีย ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหยุดส่งไปยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ก่อนหน้าตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 ที่สหรัฐอเมริกาเลิกผูกค่าเงินไว้กับทองคำ (เลิกระบบ Bretton Woods) ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างเร็วเมื่อเทียบกับทองคำ ประเทศที่ส่งออกน้ำมันพยายามรักษาฐานรายได้ โดยการผลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว สหรัฐอเมริกาต้องปรับการใช้ระบบ Day Light Saving Time (การปรับเวลาเมื่อเข้าฤดูหนาว) การปันส่วนน้ำมัน (รถทะเบียนเลขคี่/คู่ เติมน้ำมันเฉพาะวันที่เลขคี่/คู่ เท่านั้น) ยกเลิกการแข่งรถ ออกกฎหมายจำกัดความเร็ว ผลักดันมาตรฐานยานยนต์ให้มีการใช้รถขนาดเล็ก ซึ่งที่สุดทำให้รถญี่ปุ่นขนาดเล็กขายดี ขณะที่ยุโรปมีการปิดโรงงานและมีคนตกงานจำนวนมาก

     วิกฤตการณ์น้ำมันในปี ค.ศ.1979 เกิดจากภาวะความไม่สงบเช่นกันคือ ปัญหาระหว่างอิหร่านและอิรัก ราคาน้ำมันเพิ่มจาก 15.85 เป็น 39.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาตรการประหยัดพลังงานถูกมาใช้อีกครั้ง ส่งผลให้ประเทศที่พัฒนาแล้วปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ เช่น จากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง เหล็ก การขนส่งและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ดั้งเดิม มาเป็นการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่มูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมบริการ ด้านตลาดการเงิน

     ผลกระทบของราคาน้ำมันต่อการค้าระหว่างประเทศมีทั้งบวกและลบ แน่นอนว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลลบต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นผลลบเสมอไป มีการศึกษาเชิงวิชาการพบว่า ประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิส่วนใหญ่จะมีการค้าระหว่างประเทศด้วยกันเองสูง ทำให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งประเทศผู้ส่งออกน้ำมันซึ่งได้เปรียบจากรายได้น้ำมันที่สูงขึ้น ก็ไม่ได้เพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าในสัดส่วนเดียวกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีเพียงบางประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิที่ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและอาจจะเป็นผลดีด้วยซ้ำ การศึกษาของ Bernd Meyer (2007) ในหัวข้อ “Oil price , GDP and International Trade. The Case of Germany” พบว่า ราคาน้ำมันสูงขึ้น บริษัทสามารถปรับราคาสินค้าสูงขึ้นได้ ขณะที่ผลร้ายจะตกแก่อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคบางส่วน แต่อุตสาหกรรมสินค้าทุนได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะเยอรมนีมีอุตสาหกรรมดังกล่าวที่เข้มแข็ง และมีการปรับราคาขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งสินค้าที่ผลิตเป็นที่ต้องการของประเทศที่รวยขึ้นจากการส่งออกน้ำมัน ทำให้การส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวชดเชย การส่งออกที่ลดลงไปยังประเทศเดือดร้อนจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ผลคือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไม่มีผลร้ายต่อประเทศ เช่น เยอรมนี

Japan-Deflation-1986-1990

วิกฤตฟองสบู่แตกในสินทรัพย์ญี่ปุ่น ค.ศ.1986-1990

     ชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีระเบียบวินัยในการออมเงินสูงมาก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธนาคารและสถาบันทางการเงินมีเงินเป็นจำนวนมากอยู่ในระบบ ทำให้พวกเขาคิดจะขยายการเติบโตทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากการปล่อยกู้ให้เอกชนเพื่อการลงทุน รวมทั้งผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

     ในขณะนั้นดัชนีหุ้นนิเคอิพุ่งสูงติดกระดานตลาดหลักทรัพย์ แต่แล้วความจริงก็ปรากฎเมื่อตลาดของญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย จากภาคเอกชนซึ่งมีเงินแต่ไม่นำมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แม้จะมีการลดดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อให้ประชาชนนำเงินออกมาบริโภครวมถึงการลดต้นทุนทางการลงทุนลง ก็เหมือนจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก

     เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงเริ่มซบเซา ตลาดหุ้นตก เงินทุนในภาคธุรกิจหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งในเมื่อไม่มีอุปสงค์ในตลาดอุปทานก็จึงไม่เกิดเป็นเรื่องธรรมดา เงินทุนก็เริ่มไหลออกต่างประเทศ การจ้างงานจึงลดลงคน จึงประสบกับภาวะคนตกงานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาแบบเลี้ยงไข้จึงทำให้ใช้ระยะเวลาแก้ปัญหานานถึง 12 ปี กว่าจะดึงอัตราการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาอยู่ในแดนบวก จากกรณีนี้เองจึงจะเห็นได้ว่าการกระตุ้นการลงทุนนั้นจะต้องทำไปพร้อมๆกันการสร้างพฤติกรรมการบริโภคอย่างต่อเนื่องด้วย

TomYumKung-2540

วิกฤติต้มยำกุ้งในประเทศไทย ค.ศ.1997-1999

     เหตุการณ์เริ่มเมื่อ ค.ศ.1997-1999 ประเทศในอาเซียนได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับนโยบายทางการเงินของไทยช่วงนั้น ส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอก เมื่อมีปัจจัยบวกจากภายในและภายนอก ราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน รวมทั้งหุ้น สูงมากกว่าเงินที่มีอยู่ในระบบหลายสิบเท่าตัว เศรษฐกิจประเทศไทยจึงเข้าสู่ระบบการเก็งกำไร “โดยกู้มาลงทุน” เพื่อหวังกำไรส่วนต่าง

     แต่นักเก็งกำไรมองข้ามเงินที่มีอยู่มหาศาลในระบบที่มีมากเกินไป จนส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อและค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างหนัก ทำให้หนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รวมทั้งความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อัดฉีดเงินเข้าสู้ระบบ เพื่อหวังจะรักษาระดับค่าเงินบาทเอาไว้ แต่การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบในปริมาณที่มากเกินไป กลับเป็นนโยบายการเงินที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง เงินคงคลังของประเทศลดต่ำลงจนเกือบเรียกได้ว่าล้มละลาย ธนาคารแห่งประเทศไทยไร้ความสามารถในการชำระหนี้ สุดท้ายรัฐบาลไทยจึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด หนี้ของประเทศจึงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว สถาบันทางการเงินปิดไปถึง 56 แห่ง ประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันต่างร้องขอความช่วยเหลือจาก IMF

Russia-Economy-1988

วิกฤติการเงินในรัสเซีย ปี ค.ศ.1998

     วิกฤติทางการเงินในครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก เริ่มจากรัสเซียในขณะนั้นเพิ่งจะพ้นช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเดิม และทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าหลักๆในขณะนั้นก็คือพวกเหล็ก น้ำมัน และทองแดงเป็นสินค้าส่งออกหลัก ซึ่งส่งออกมายังแถบเอเซียเป็นหลัก แต่ในช่วงนั้นเอเชียก็ประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจของตนเองเช่นกัน การสั่งซื้อสินค้าจากรัสเซียจึงลดลง ในขณะที่ปริมาณการผลิตยังคงเท่าเดิม ราคาสินค้าจึงตกต่ำลงถึงขีดสุด

     แต่เนื่องจากรัสเซียต้องการเงินมาพัฒนาโครงสร้างของประเทศจำนวนมหาศาลในช่วงนั้น จึงออกพันธบัตรเงินกู้เป็นจำนวนมากนำออกขายให้นักลงทุนที่สนใจ โดยมีผลตอนแทนถึง 20% ต่อปี โดยที่นักลงทุนขณะนั้นยังคงมีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของรัสเซีย เพราะพวกเขาเห็นว่ามี IMF คอยสนุบนุนอยู่ นักลงทุนจึงระดมกู้เงินจากทั่วโลกเพื่อมาซื้อพันธบัตรรัสเซียพื่อเก็งกำไร

     และในที่สุดเมื่อรัสเซียไม่สามารถชำระหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1998 รวมทั้งยังออกมาตรการห้ามประชาชนถอนเงินสดออกจากธนาคาร ในที่สุดปัญหาเศรษฐกิจในรัซเซียก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกือบทั่วโลก ซึ่งในขณะนั้นเอเซียก็กำลังเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงเป็นการซ้ำเติมความเสียหายทางเศรษฐกิจให้เพิ่มความรุนแรงหนักขึ้นไปอีก

Argentine-GNP-1999-2004

วิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่า ค.ศ.1999-2002

     หายนะวิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่าเกิดจากความผิดพลาดหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม นโยบายการเงิน ไปจนถึงการคอร์รัปชัน ทั้งหมดสั่งสมมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารจนถึงประชาธิปไตยซึ่งกดดันจากต่างประเทศ โดยอาร์เจนติน่ามีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูงมากจนเกิดภาวะการขาดดุลทางการเงินอย่างหนัก แถมมีปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงซึ่งเพิ่มขึ้นเดือนละ 200% และเกือบจะ 3000%

     ในปี 1983 จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลและนโยบายทางการเงินใหม่หมด ให้มีการกำหนดค่าเงินแบบตายตัว แต่ก็ไม่ได้ส่งผลในเชิงบวก และยังทำให้เกิดปัญหาด้านการส่งออกขึ้นอีก เพราะค่าเงินแข็งเกินไปทำให้สินค้าส่งออกขายได้ยากขึ้น หนี้เก่าก็มีเป็นจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องชำระหนี้สินคืนต่างประเทศก็ไม่สามารถใช้คืนได้ สุดท้าย IMF ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน

Hamburger-crisis-2008

วิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่า ค.ศ.1999-2002

     มีที่มาจากสถาบันการเงินของอเมริกันได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปล่อยกู้สินเชื่อจำนวนมหาศาล ให้กับบริษัทและประชาชนที่มีความน่าเชื่อถือน้อยมาก ซึ่งถ้าเป็นในอดีตบริษัทและประชาชนเหล่านี้ไม่มีทางจะขอกู้ผ่านแน่นอน โดยผู้กู้จะต้องยอมจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า เพื่อทดแทนการได้รับสินเชื่อมาแบบง่ายๆ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของวิกฤติ เพราะสถาบันทางการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเหล่านั้นประเมินลูกค้าเอาไว้สูงกว่าความเป็นจริงมาก ทั้งๆที่ผู้กู้บางรายแทบไม่มีคุณสมบัติในการผ่อนชำระเงินแม้แต่แค่ดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ

     เงินกู้ส่วนใหญ่มักจะนำไปเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถสร้างงานรวมทั้งสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาล แต่สุดท้ายแล้วผู้กู้ก็ไม่สามารถนำเงินมาใช้หนี้ที่กู้ไปเก็งกำไรได้ จนนำไปสู่การขาดสภาพคล่องของธนาคารในที่สุด ธนาคารหลายๆแห่งจึงล้มลงและกลายเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

Greek-debt-crisis-2009

วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ค.ศ. 2009

     วิกฤติเศรษฐกิจของกรีซปะทุขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2009 สาเหตุหลักๆมาจากการขาดวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารเงินคงคลังภายใน ผสมกับภาวะถดถอยทางการเงินของกระแสเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลถึงร้อยละ 14.5 และยังมีหนี้สาธารณะขึ้นสูงถึงร้อยละ 113 ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมรายจ่ายต่อปีจำนวนมากอีก นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพยังกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนอีก ที่ร้ายกว่านั้นคือการที่มันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งกรีซเองเป็นสมาชิกอยู่ จนเหล่าบรรดาภาคี EU และ IMF ต้องเข้าให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเพื่อกอบกู้ประเทศนี้เอาไว้ไม่ให้ล้มละลาย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here