ทองคำ (Gold) สัญลักษณ์ทางเคมีคือ AU (มาจากภาษาละตินว่า Aurum) เป็นธาตุโลหะทรานซิชัน สีเหลืองทองมันวาว เนื้ออ่อนนุ่ม สามารถยืด และตีเป็นแผ่นได้ ทองคำไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่วนใหญ่ ลักษณะที่พบโดยทั่วไปมักเป็นเกล็ด หรือเป็นเม็ดกลมเล็กๆ หรือเป็นก้อนใหญ่ มักมีส่วนผสมของ แร่เงิน (Ag), ทองแดง (Cu), เหล็ก (Fe) และเทลลูเรียม (Te) จึงต้องนำมาถลุงเพื่อแยกเนื้อทองคำแท้ออก
แร่ธาตุทองคำ เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา จากการผสมทางธรรมชาติจากน้ำแร่ร้อนผสมผสานกับสารละลายจำพวกซิลิก้า ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่างๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร จึงมีการพบการฝังตัวของแร่ธาตุทองคำในหิน หรือสายแร่ที่แทรกอยู่ในหิน ซึ่งสามารถสึกกร่อนและถูกน้ำพัดพาไปสะสมตัวในที่แห่งใหม่ เช่นตามเชิงเขา หรือลำห้วย
ประโยชน์ของทองคำ
- ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเครื่องประดับ เหตุที่นิยมนำทองคำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นโลหะที่มีความ งดงามมันวาว (Lustre), คงทน (Durable), หายาก (rarity) และสามารถนำกลับไปใช้ได้ (Reuseable)
- ด้านอวกาศ มีการนำทองคำมาใช้เป็นชุดนักบินอวกาศและแคปซูล เพื่อป้องกันรังสีในอวกาศที่มีพลังงานสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้ทองคำบริสุทธิ์เคลือบกับเครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หมวกเหล็ก เกราะบังหน้า และอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้ในอวกาศ
- ใช้ในวงการทันตกรรม โดยทองคำถูกนำมาใช้เพื่อการครอบฟัน เชื่อมฟัน หรือการเลี่ยมทอง รวมทั้งยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตฟันปลอมด้วย เนื่องจากทองคำมีความคงทนต่อการกัดกร่อน การหมองคล้ำ และยังมีความแข็งแรงอีกด้วย โดยจะใช้ทองคำผสมกับธาตุอื่น เช่น แพลทินัม
- ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีการนำทองคำมาใช้เป็นวัสดุที่ทำหน้าที่สัมผัสในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เครื่องคิดเลข โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากทองคำมีค่าการนำไฟฟ้าสูง และมีความคงทนต่อการกัดกร่อน จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานของเครื่องไฟฟ้าเหล่านั้น
- ใช้เป็นทองคำสำรองระหว่างประเทศ (Gold Reserve) เพื่อการลงทุนและเป็นหลักประกันทางการเงินของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ ซึ่งประเทศที่มีทองคำหนุนหลังมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐ (76%), เยอรมนี (70%), อิตาลี (69%), ฝรั่งเศส (65%)
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำ


- อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าในโลกนี้แทบทุกอย่างเกิดจากความพอใจที่จะซื้อและขาย ดังนั้นปริมาณความต้องการซื้อและขายจึงมีความสำคัญในการกำหนดราคาทองคำ สังเกตุได้จากช่วงเทศกาลที่ต้องการใช้ทองคำมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ราคาทองคำก็จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณที่ต้องการใช้ในช่วงนั้นด้วย

- ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index) ถือว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากราคาทองคำจะมีทิศทางตรงข้ามกับการเคลื่อนตัวของราคาทองคำ และจะเป็นตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเพื่อจะไปซื้อทองซึ่งมีการซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นหากดัชนีค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง จะส่งผลให้ราคาทองคำดีดตัวขึ้น

- อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (USD/THB) เนื่องจากทองคำมีการซื้อขายกันในเงินสกุลหลักคือดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญเนื่องจากราคาทองคำ96.5% ต่อน้ำหนัก1บาทในประเทศไทยคำนวนมาจาก [(Spot Gold + Premium) x 32.148 x USD/THB x 0.965] / 65.6 ดังนั้นหากค่าเงินบาทเราอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ราคาทองคำในไทยดีดตัวขึ้น

- อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้นักลงทุนรู้สึกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินฝากมากขึ้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างทองคำ จึงทำให้มีนักลงทุนบางส่วนขายทองคำออกสู่ตลาดมากขึ้นเพื่อโยกเงินกลับเข้าสู่ระบบเงินฝาก

- เงินเฟ้อและเงินฝืด (Inflation & Deflation) เมื่อระดับเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นจะส่งผลให้เงินจำนวนเท่าเดิมมีอำนาจในการซื้อลดลง เนื่องจากราคาสินค้าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งราคาทองคำก็เช่นกัน ซึ่งหากเกิดเงินฝืดขึ้นในระบบจะส่งผลในเชิงตรงกับเงินเฟ้อ

- ความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk) อย่างที่ได้กล่าวไปช่วงต้นว่าทองคำสามารถรักษามูลค่าตัวเองได้ดีกว่าการถือเงินสกุลต่างๆ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โลกดูมีความเสี่ยงมากขึ้นนักลงทุนจึงมีแนวโน้มโยกเงินกลับเข้าสู่ทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินและส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น

- การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นนั่นหมายถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจลดลง และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะดูมีผลกำไรที่เติบโตขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หุ้นจึงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น นักลงทุนจึงมีแนวโน้มโยกเงินกลับสู่ตลาดทุนในยามที่เศรษฐกิจเติบโตดี และขายทองคำออกมามากขึ้น

- การปรับพอร์ททองคำของสถาบันทางการเงินรายใหญ่ (Financial Institution Effects) เนื่องจากสินทรัพย์และปริมาณเงินที่สถาบันถือครองอยู่มีปริมาณมาก ดังนั้นเวลาสถาบันมีการขยับพอร์ทจึงส่งผลกับตลาดมากตามไปด้วย
บทส่งท้าย
ปัจจัยพื้นฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลกระทบต่อราคาทองทั้งหมด แต่ผลกระทบแต่ละด้านจะมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละรอบว่าจะส่งผลทางด้านไหนมากกว่ากัน การที่เราเข้าใจปัจจัยพื้นฐานคร่าวๆทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความเข้าใจเรื่องทิศทางการไหลของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อหาผลตอบแทนที่มากที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละกลุ่มต้องการ ซึ่งบทความต่อจากนี้จะเป็นการลงลึกในแต่ละปัจจัยพื้นฐานที่กล่าวมา รวมทั้งการดูเทคนิคอลเพื่อต่อยอดความเข้าใจให้ลึกขึ้นแต่ในแต่ปัจจัย
โดยปกติเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก (Fund Flow) มักจะย้ายไปพักตัวในสินทรัพย์ไม่กี่อย่าง คือ ดอลลาร์สหรัฐ (USD), ทองคำ (Gold) และ น้ำมัน (Oil) ส่งผลให้สินทรัพย์ทั้ง 3 มีสภาพคล่องสูง ประกอบกับมีความผันผวนสูงเป็นเงาตามตัว เนื่องจากราคาของสินทรัพย์ดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อข่าว และปัจจัยที่มากระทบในทันที โดยเฉพาะในปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารสามารถเดินทางได้ไว จึงทำให้ราคาสามารถตอบรับข่าวได้ภายในเวลาไม่กี่นาที