หลักการของการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical analysis) เกิดจากพฤติกรรมราคาที่เคยเกิดขึ้นซ้ำๆบ่อยๆ จนส่งผลทางด้านจิตวิทยาให้คนส่วนใหญ่เริ่มคาดการณ์ว่า เมื่อเกิดรูปแบบราคาแบบนี้ขึ้นก็มักจะมีทิศทางราคาไปในทิศทางเดิมๆ (หากไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบ) และเมื่อคนหมู่มากเริ่มมีความเชื่อว่ามีแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางนั้นจริงๆก็จะส่งผลให้เกิดรูปแบบซ้ำเดิม อาจกล่าวได้ว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิคอลคือการวิเคราะห์พฤติกรรมราคาเพื่อคาดการณ์แนวโน้มที่มักจะเกิดขึ้นจริงต่อไป
3 แนวคิดพื้นฐาน การวิเคราะห์ทางเทคนิค
การวิเคราะห์ “พฤติกรรม” คือ หัวใจของเทคนิคอล
- พฤติกรรมของราคา ณ ขณะนั้น ได้สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแล้ว รวมถึงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้ด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วการวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นการแปรผลในเชิงคุณภาพ ให้เห็นภาพง่ายขึ้น เมื่อแสดงผลในรูปของราคา
- ปัจจัยแต่ละปัจจัยที่เข้ามากระทบ จะส่งผลให้เกิด 2 แรง คือแรงซื้อและแรงขาย ราคาตลาดจึงเป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ณ ขณะนั้นแล้ว หลังจากที่รับรู้ปัจจัยต่างๆแล้ว
ราคาจะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มเดิมจนแรงเริ่มหมด หรือมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบ
- โลกที่ข่าวสารถูกรับรู้ได้อย่างแพร่หลายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น ผ่านระบบ Internet จุดนี้ส่งผลให้ราคามีการสวิงตัวไวขึ้นก็จริง แต่นั้นเป็นการสะท้อนราคาที่แท้จริงตามปัจจัยที่เข้ามากระทบให้เข้าสู่จุดดุลยภาพนั่นเอง
- รับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วในปัจจุบัน ยิ่งทำให้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากส่งผลให้ราคาสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น นั่นหมายถึง ตลาดในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
รูปแบบราคามักจะเกิดขึ้นในรูปแบบซ้ำเดิม
- เนื่องจากราคาเป็นตัวสะท้อนอารมณ์ต่างๆของตลาด ราคาในตลาดก็ล้วนเกิดจากนักลงทุนหรือมนุษย์นั่นเอง และมนุษย์มักมีพฤติกรรมเดิมๆ นั่นคือสิ่งที่สะท้อนออกมาในรูปของราคาตลาดนั่นเอง
การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis) และการระบุแนวโน้ม
พฤติกรรมของราคามักเคลื่อนไหวตามแนวโน้มที่เกิดขึ้น นักลงทุนจำเป็นต้องทำความเข้าใจแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend), แนวโน้มขาลง (Downtrend) และแนวโน้มไม่มีทิศทาง (Sideways) เพื่อหาจังหวะในการเข้าซื้อหรือขายที่ดีที่สุด การใช้เครื่องมือ เช่น เส้นแนวโน้ม (Trendlines) และเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Averages) จะช่วยในการระบุแนวโน้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำความรู้จักแท่งเทียน
แต่ก่อนจะลงลึกในส่วนของเครื่องมือทางเทคนิคอลนั้น อยากให้นักลงทุนรู้จักกับกราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) เสียก่อน เนื่องจากเป็นรูปแบบการแสดงกราฟที่นิยมนำมาวิเคราะห์ต่อทางเทคนิคและนิยมใช้กันแพร่หลาย เมื่อนักลงทุนมีความเข้าใจในกราฟแท่งเทียนแล้ว การวิเคราะห์ทางเทคนิคย่อมจะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น มาเริ่มทำความรู้จักกับแท่งเทียนกันก่อนเลยดีกว่า
แท่งเทียนจำนวน 1 แท่ง จะถูกใช้แทนการเคลื่อนตัวของราคาในกรอบเวลา (Time Frame) 1ช่วง ซึ่งอาจจะเป็น ชั่วโมงหนึ่ง วันหนึ่ง สัปดาห์หนึ่ง เป็นต้น สมมติว่าเราต้องการจะดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ซึ่งราคามีการเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง หากเราเลือก กรอบเวลาเป็น 1 วันเราจะเห็นแท่งเทียนเพียง 1 แท่ง แต่หากเราเลือกกรอบเวลาเป็น 1 ชั่วโมงในการดูการเคลื่อนไหวของราคา จะเกิดแท่งเทียนรายชั่วโมงขึ้น 24 แท่งในระยะเวลา 1 วันเท่ากัน ดังรูปด้านล่าง
เมื่อเริ่มเข้าใจการเกิดของแท่งเทียนแล้ว ในลำดับต่อไปแนะนำให้เริ่มศึกษาการหาแนวรับ-แนวต้าน รวมทั้งสัญญาณทางเทคนิค (Indicator) เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการซื้อ-ขายในลำดับถัดไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคาดการณ์แนวโน้มราคาในอนาคตต่อไป
เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ทางเทคนิค
เครื่องมือของนักลงทุนสายเทคนิคอลแต่ละคนมักจะแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับความถนัดและความชอบส่วนบุคคล รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของนักเทคนิคด้วย และมักจะมีเครื่องมือหลักๆดังนี้
- Moving Average Convergence Divergence (MACD)
- Relative Strength Index (RSI)
- Stochastic
- Moving average (MA) เส้นค่าเฉลี่ย
- Divergence (สัญญาณขัดแย้ง)
- Fibonacci
- Support-Resistance (แนวรับ-แนวต้าน)
- Elite Wave 1-2-3-4-5-ABC
- CandleStick Pattern (รูปแบบการกลับตัวของแท่งเทียน)
การใช้เครื่องมือเสริมและการวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย
การใช้เครื่องมือเสริม เช่น Bollinger Bands, Ichimoku Cloud, และ Average Directional Index (ADX) สามารถช่วยยืนยันสัญญาณการซื้อหรือขายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย (Volume Analysis) เช่น การใช้ Volume Oscillator และ OBV (On-Balance Volume) จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความเคลื่อนไหวของตลาดได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
การวิเคราะห์รูปแบบกราฟ (Chart Patterns)
รูปแบบกราฟ เช่น Head and Shoulders, Double Top, และ Double Bottom เป็นตัวบ่งชี้ถึงการกลับตัวของราคา รูปแบบเหล่านี้ช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ทิศทางราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเรียนรู้การระบุรูปแบบกราฟและการนำมาใช้เพื่อทำนายแนวโน้มสามารถเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้มากขึ้น
การจัดการความเสี่ยงและการใช้ Stop-Loss
การจัดการความเสี่ยงเป็นส่วนสำคัญในการลงทุน การใช้เครื่องมือเช่น Stop-Loss และการตั้งเป้าหมายราคา (Target Price) สามารถช่วยให้นักลงทุนลดความเสี่ยงในการขาดทุนและเพิ่มโอกาสในการทำกำไร การปรับกลยุทธ์ตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเสมอเพื่อป้องกันการสูญเสีย
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค
นักลงทุนสายเทคนิคอลมักจะมองว่าปัจจัยพื้นฐานได้สะท้อนออกมาในรูปของราคาเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่แนะนำให้ละเลยการติดตามปัจจัยพื้นฐานประกอบการวิเคราะห์แนวโน้มด้วย เพราะพื้นฐานสามารถเปลี่ยนเทคนิคอลได้ แต่เทคนิคอลไม่สามารถเปลี่ยนพื้นฐานได้ และยังคงแนะนำให้ใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานควบคู่ไปกับการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคอล ในการคาดแนวโน้มใหญ่และใช้เพื่อหาจังหวะในการเข้าซื้อและขายทำกำไรรวมทั้งตัดขาดทุน
สรุปการวิเคราะห์ทางเทคนิค
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental analysis) จะทำให้ผู้ลงทุนทราบว่าควรจะลงทุนในสินทรัพย์ใด แต่การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical analysis) จะทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในจังหวะที่ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อที่จะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง